ยะลา - ศอ.บต. เรียกบัณฑิตอาสา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฝึกอบรมเสริมศักยภาพ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของรัฐ ควบคู่กับการสร้างความยุติธรรม
วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ห้องโถง อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ.สุขยางค์ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเสริมศักยภาพ “บัณฑิตอาสาผู้สื่อข่าวยุติธรรมชุมชน” ที่ทางสำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นผู้จัดขึ้น เพื่อยกระดับบัณฑิตอาสาให้สามารถทำหน้าที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ และผู้สื่อข่าวเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความยุติธรรมอย่างทั่วถึงแก่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ถือเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างกันในพื้นที่ และเป็นสื่อกลางสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อภาครัฐด้วย
โดยมีบัณฑิตอาสาผู้สื่อข่าวยุติธรรมชุมชน เข้าร่วมในการฝึกอบรมทั้งหมด 252 คน โดยคัดเลือกตำบลละ 1 คน แยกเป็น จังหวัดยะลา 56 คน จังหวัดนราธิวาส 75 คน จังหวัดปัตตานี 111 คน และบัณฑิตอาสานักจัดรายการวิทยุของ ศอ.บต.อีก 10 คน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพี่น้องหลายคนที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม คำว่า “ไม่เป็นธรรม” ไม่ได้หมายความถึงในกระบวนการยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมจากระบบสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง ความไม่เป็นธรรมในระบบต่างๆ ตนเองก็จะพยายามที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่นำมาใช้ เพราะในแต่ละหมู่บ้านก็มีบัณฑิตอาสา จึงได้มีโครงการพัฒนาบัณฑิตอาสาที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นผู้สื่อข่าวยุติธรรมชุมชน ซึ่งขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่า ฝ่ายราชการ หรือฝ่ายรัฐมีเครื่องมือมากมาย แต่ฝ่ายประชาชนที่เจ้าหน้าที่ต้องให้ความสำคัญไม่มีช่องทางที่จะสื่อสาร จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้บัณฑิตอาสาได้เป็นผู้สื่อข่าว ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ส่งข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวทุกข์ร้อนต่างๆ
สำหรับเรื่องที่ตนเองได้ฝากไปยังบัณฑิตอาสาเป็นกรณีพิเศษนั้น ก็คือ ถ้าหากไปรับเรื่องราว ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่มาแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ บัณฑิตอาสาจะต้องนำข้อมูลไปแก้ไข ในส่วน ศอ.บต. หรือในส่วนของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในพื้นที่ต้องไปทำหน้าที่ ถือว่าเป็นการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้มีช่องทาง และสื่อของตัวเอง ซึ่งสื่อของบัณฑิตอาสาจะเป็นการเชื่อมต่อกับสื่อสารมวลชน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อยู่ในยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน
ด้าน น.ส.ราตีผ๊ะ วาแม็ง บัณฑิตอาสาจากพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา 1 ในบัณฑิตอาสา ที่เข้าร่วมในการฝึกอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา รับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รับหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับชาวบ้านในชุมชน มีการประสานงานทุกๆ อย่างภายในชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
สำหรับการเข้ามารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ตนเองคาดหวังว่าต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด เพราะประชาชนในชุมชนไม่ค่อยเรียนหนังสือ ซึ่งตนเองก็เป็นตัวแทนของภาครัฐ หากมีปัญหาอย่างไรก็สามารถประสานงานได้ในทุกภาคส่วน รวมไปถึงภาคเอกชน
ส่วนในสิ่งที่ต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการ คือ หากสามารถให้ความช่วยเหลือได้ ทางบัณฑิตอาสาต้องการค่าเสี่ยงภัย เพราะบัณฑิตอาสาทุกคนต้องลงพื้นที่ และในแต่ละพื้นที่ที่ได้เข้าไปก็เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อยากให้มีการพิจารณาในส่วนนี้ด้วย