นครศรีธรรมราช - จนท.การรถไฟเร่งกู้ทางเปิดเดินรถก่อนให้ได้ภายใน 24 ชม. งามหน้ารถแคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์ทั้ง 17 คันเป็นของการรถไฟมาเลเซีย ผู้บริหารรุดดูที่เกิดเหตุเสียหายยับ อัดเส้นทางเดินรถสุดห่วย รบ.ไทยมัวงมโข่งรถไฟความเร็วสูง ไม่เร่งขยายขนส่งระบบรางทั้งที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมหาศาล
หลังจากเกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าด่วนหมายเลข 721 ซึ่งออกเดินทางจากสถานีชุมทางบางซื่อ และลากรถแคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์บรรจุยางพาราอัดแท่งรมควัน จาก จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 17 แคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์รวม 34 ตู้คอนเทนเนอร์ มาเกิดอุบัติเหตุที่บ้านช่องเขา ม.8 ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงเที่ยงวันของวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขบวนรถไฟที่เดินทางมุ่งหน้ายังภาคใต้ใช้การได้แค่ชุมทางทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เท่านั้น ส่วนที่เดินทางล่องใต้ไปมากกว่านั้นต้องหยุดชะงักกว่า 20 ขบวนต่อวัน ทำให้เกิดเสียหายอย่างกว้างขวาง
ล่าสุด วันนี้ (6 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งทำการกู้เส้นทางตลอด 24 ชม.ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้สภาพการทำงานเปียกแฉะ มีดินโคลนการเดินเท้าของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเต็มไปด้วยความยากลำบาก การเก็บกู้จนถึงเวลา 15.30 น. ของวันที่ 6 พ.ค. ได้มีเครนและเครื่องกลหนักเข้ามาปฏิบัติการได้เพียง 2 แคร่และอีก 1 โบกี้ของพนักงานรักษารถเท่านั้น และเริ่มวางเปิดเส้นทางเบี่ยงประมาณราว 700 เมตรก่อนเป็นลำดับแรก และยกรถแคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์เหวี่ยงออกไปข้างทางเตรียมกู้ภายหลัง
นายสกล นนท์นิรัตศัย วิศวกรรถไฟ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการวางเส้นทาง และเคลื่อนย้ายรถแคร่และคอนเทนเนอร์ เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติในการทำงานมี 3 ขั้นตอนคือ 1.เปิดเส้นทางใหม่เป็นทางเบี่ยงเลียบข้างกับเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุ 2.เบี่ยงรถที่เกิดอุบัติเหตุออก และ 3.หลังจากนั้นจะอาศัยช่วงเวลาวางเดินรถมายกคอนเทนเนอร์ และรถแคร่วางบนรางลากกลับไป
ขณะที่ นายจรัสพันธ์ สุจิรังกุล ผอ.วิศวกรกำกับการเขตบำรุงทางหาดใหญ่ เปิดเผยว่า พยายามที่จะเปิดรางใหม่เพื่อให้ขบวนรถโดยสาร และขบวนอื่นๆ เดินรถให้ได้ภายใน 24 ชม.โดยการเปิดเส้นทางเบี่ยงเลี่ยงจุดเกิดเหตุ เบื้องต้นสาเหตุนั้นน่าจะเกิดจากดินยุบตัวซึ่งทางรถไฟประสบปัญหาในเรื่องนี้บ่อย บางจุดที่ยุบตัวนั้นจะมองไม่เห็น เข้าใจว่าช่วงที่ตกรางนั้นมี 3 คัน หลังตกก่อนจากนั้นได้ลากตกลงไปทั้งขบวน
“ความเสียหายของรางรถประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนตัวขบวนรถประมาณ 4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีแผนในการแก้ไขปัญหาเปลี่ยนรางจากรางขนาด 80 ปอนด์ เป็นรางขนาด 100 ปอนด์ และบางช่วงบางตอนยังไม่ได้รับงบประมาณในการเปลี่ยนไม้หมอน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีงบประมาณ 56-57” นายจรัสพันธ์ กล่าว
ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคณะของชาวมาเลเซียเดินทางมาในจุดเกิดเหตุ เมื่อลงจากรถได้สวมเสื้อสะท้อนแสงมีสัญลักษณ์ KTS. หลังจากนั้น ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปสอบถาม ทราบว่าหัวหน้าคณะดังกล่าวมี Mr.Badrul Hisham Bin Mohd Zakaria gani มีตำแหน่งเป็น Maketing Excutive.(Landbridg) ของ KTS. หรือบริษัทการรถไฟของมาเลเซีย พร้อมด้วยผู้บริหารอีก 4 รายเข้ามาตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งบันทึกภาพรถแคร่และคอนเทนเนอร์ที่ได้ความเสียหายอย่างหนัก
Mr.Chan ซึ่งเป็นตัวแทน TS. Trand Rail บริษัทที่ปรึกษาการเชื่อมโยงขนส่งระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ของการรถไฟมาเลเซีย เปิดเผยว่า รถแคร่บรรทุกทั้ง 17 คันบรรทุกคอนเทนเนอร์ 34 ตู้เป็นยาพาราอัดแท่งรมควันมีมูลค่าตู้ละกว่า 10 ล้านบาท ทั้ง 34 ตู้มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ประเด็นคือ รถแคร่ดังกล่าวทั้ง 17 คันเป็นของการรถไฟมาเลเซีย ที่นำมาบรรทุกคอนเทนเนอร์โดยมีหัวรถจักรของการรถไฟไทยลากไปรวมขบวนสินค้าที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากนั้นจะไปเปลี่ยนหัวรถจักรเป็นของการรถไฟมาเลเซียที่ อ.ปาดังเบซาร์ และเดินทางต่อไปที่ปีนัง ไปลงเรือสินค้าที่นั่น
“ทุกคนเป็นห่วงการรถไฟของประเทศไทย ฝ่ายการเมืองมัวแต่ไปวุ่นกับเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเส้นทางการขนส่งระบบรางของภาคใต้ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เป็นเส้นทางที่มีค่าใช้จ่ายถูกมาก สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมหาศาล ขนส่งระบบรางมีแค่เส้นทางนี้เส้นทางเดียว รัฐบาลไทยคงไม่ทราบว่ารัฐบาลมาเลเซียได้สร้างระบบรางคู่หมดแล้ว สาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะระบบรางของประเทศไทยไม่ได้มาตรฐาน ชำรุดจึงสร้างความเสียหายให้มากขนาดนี้ ซึ่งหลังจากนี้ คงต้องไปดูต่อเรื่องของการประกันภัยความเสียหายของตัวคอนเทนเนอร์ ตัวสินค้า รถแคร่ อีกมหาศาล ไม่รวมค่าระวางเรือที่ต้องสูญเสีย เสียเวลา เสียโอกาส นี่คือตัวอย่างที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีการพัฒนา ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว รัฐบาลไทยไม่เคยใส่ใจเรื่องระบบการขนส่งในภาคใต้ของประเทศไทยเลย” ที่ปรึกษารายนี้กล่าวในที่สุด