ยะลา - นักวิชาการยะลา ชี้หลัง ครม.อนุมัติงบ 2,080 ล้านบาทเพื่อเยียวยาเหยื่อไฟใต้ รัฐควรจ้างผู้ที่มีหน้าที่ หรือมีวิชาชีพด้านการประเมินโดยตรงไปประเมินอาคาร บ้านเรือน หรือ สิ่งอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อความเป็นธรรมแก่เหยื่อ ด้านเหยื่อระบุ ดีใจที่รัฐจัดสรรงบเยียวยาให้ แต่ควรมีการประเมินตามความเหมาะสม ไม่ใช่เพราะมีเส้นสาย
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,080 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และการจ่ายเงินเยียวยาตามที่คณะกรรมการเสนอ
ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ประชาชนทั่วไป ประมาณ 500 ล้านบาท 2.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประมาณ 200 ล้านบาท 3.ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1,000 ล้านบาท และ 4.ผู้ที่ถูกควบคุม คุมขัง ดำเนินคดี จำเลย จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 300 ล้านบาท ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ทันที
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ผช.ศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนเงิน 2,080 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตนเองอยากให้มองว่า การเยียวยา หรือการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานภายใต้การบริหารความรู้สึก ฉะนั้น เมื่อมีแนวคิดที่ดีแล้วในการเยียวยา แต่หลักเกณฑ์ หรือวิธีการเป็นคำถามที่ต้องสร้างความกระจ่างต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ประชาชนทั่วไป 2.เจ้าหน้าที่ของรัฐ 3.ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.ผู้ที่ถูกควบคุม คุมขัง ดำเนินคดี จำเลย จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวออกมา ในเรื่องของการหักหัวคิวเงินเยียวยา หรือ เรื่องต่างๆ ในพื้นที่ ที่ใครจะเข้าในหลักเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ ในทางปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ ต้องอย่าให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด อย่าให้มีกลุ่มบุคคลที่ไปสร้าง หรือไปเหยียบย่ำความสูญเสียของพี่น้องประชาน แล้วไปกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องที่อันตราย
ส่วนในเรื่องการประเมินความเสียหาย หรือผลกระทบนั้น มีความรู้สึกของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบบางกลุ่ม รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินความเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ออกมาบอกกับพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจ ให้สู้อยู่ในพื้นที่ อย่าหนีไปไหน แต่สิ่งเหล่านี้ได้ไปบั่นทอนจิตใจ และกำลังมองว่า ทางรัฐไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อพวกเขา รัฐหมายถึงผู้ปฏิบัติบางส่วนในการประเมินความเสียหาย หรือผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ร้านค้าต่างๆ
ฉะนั้น เมื่อมีการเยียวยาเม็ดเงินพอสมควรแล้ว มาตรฐานสิ่งเหล่านี้ทางรัฐสามารถทำได้ โดยอาจจะจ้างผู้ที่มีหน้าที่ หรือมีวิชาชีพด้านการประเมินโดยตรงไปประเมินอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบก็ได้ จะสามารถตัดความไม่เป็นธรรมตรงนี้ออกไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในพื้นที่ก็พูดกันอย่างหนาหู เพราะเกิดจากความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เม็ดเงินไม่ใช่เป็นส่วนที่มีความสำคัญ แต่ความรู้สึกต่างหากที่มีความสำคัญ ตรงนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด จะทำอย่างไร จะทำให้ทุกภาคส่วน หรือทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เกิดความรู้สึกว่ารัฐดูแลได้อย่างเป็นธรรม และมีความเสมอภาค ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องฝากไปยังทางรัฐ ว่าจะทำอย่างไร
น.ส.กฤษณพร คคนางค์พงศ์ แม่ของ ด.ญ.ศุภาพิชญ์ คคนางค์พงศ์ (น้องไอซ์) อายุ 6 ขวบ เด็กน้อยผู้ที่รอดชีวิต แต่ต้องสูญเสีย แม่นม น้าสาว และน้าชาย จากเหตุระเบิดคาร์บอมบ์จุดที่ 2 หน้าร้านเลดี้ แฟชั่น สาขา 2 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ตนเองก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็อยากให้การประเมินการเยียวยาในครั้งนี้ เป็นไปตามความเหมาะสม บางรายได้รับความเสียหายมาก แต่มีการประเมินในการเยียวยาเพียงน้อยนิด บางรายได้รับความเสียหายน้อย แต่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยามากกว่า หรืออาจจะมีเส้นสาย ตนเองก็ไม่รู้ ซึ่งตนเองก็อยากจะให้มีการช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสม เพราะว่าร้านของตนเองพังเสียหายทั้งหลัง ทรัพย์สินเสียหาย แต่การช่วยเหลือเยียวยามีการประเมินได้ไม่เต็มที่ ซึ่งบางคนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวไปเลย
ขณะนี้ ลูกสาวของตนเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ยังคงต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ที่ผ่านมา บางหน่วยงานก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ก็ให้ความช่วยเหลือไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ลูกสาวก็เจ็บมากกว่าคนอื่น ก็อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะอย่างนี้ขึ้นมา แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าหากอยากจะช่วยเหลือก็ขอให้ช่วยเหลือให้เต็มที่