xs
xsm
sm
md
lg

คุณค่าในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและความเร็ว จะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้นจากการใช้งานของกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน
อุทัย ดุลยเกษม

เมื่อปลายๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ผมมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีความหมายว่าผมถูกจัดอยู่ในประเภท “ผู้สูงอายุ” หรือ “คนชรา” ตามคำนิยามของราชการไทยโดยสมบูรณ์มาร่วม 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงมักจะได้ยินเพื่อนร่วมยุคสมัยบ่นหรือปรารภให้ฟังอยู่เนืองๆ ว่า “คนหนุ่มสาวสมัยนี้” มีวิธีคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตต่างจาก “คนรุ่นเรา” มากทีเดียว

แล้วก็ยกตัวอย่างต่างๆประกอบคำปรารภนั้น เช่น “คนหนุ่มสาวสมัยนี้” มีวิธีคิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงในชีวิต” แตกต่างจาก “คนรุ่นเรา” ในแง่ที่ว่าคนรุ่นเราคิดถึงความมั่นคงในการทำงานอาชีพในแนวตั้ง (Vertical) หมายความว่า การทำงานที่มีความมั่นคงต้องมีการไต่อันดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงตำแหน่งสูงสุดในอาชีพนั้นๆ เช่น การไต่จากการเป็นเสมียนขึ้นไปเป็นหัวหน้าแผนก และเป็นหัวหน้ากองและอธิบดี เป็นต้น

ในแง่ของเศรษฐกิจ ก็เริ่มจากการสะสมเงินทองเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการมีเงินซื้อที่ดิน ซื้อบ้านที่อยู่อาศัย และการซื้อรถยนต์ส่วนตัวที่มีประโยชน์ใช้สอยมากกว่ารถหรูๆ หรือซื้อเรือกสวนไร่นา หรือมีเงินทองส่งเสียให้ลูกศึกษาต่อในระดับสูงๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของ “คนรุ่นเรา” จึงเป็นประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า “Live to Work” หมายความว่า “คนรุ่นเรา “มีชีวิตอยู่เพื่อการทำงาน งานและงานเท่านั้น

แต่ “คนหนุ่มสาวสมัยนี้” มักมีวิธีคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิตในลักษณะเป็นแนวนอน (Horizontal) กล่าวคือ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไต่บันไดดารา แต่สามารถเปลี่ยนงานได้ง่ายๆ การเปลี่ยนงานแต่ละครั้งอาจพิจารณาจาก “ความก้าวหน้า” ในสายงานนั้นๆ หรือในองค์กรที่ใหญ่ขึ้นหรืออาจพิจารณาจากค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

ในด้านเศรษฐกิจก็มิได้เก็บหอมรอมริบแบบ “คนรุ่นเรา” แต่จะใช้จ่ายในสิ่งที่นำความพึงพอใจมาให้ตนเอง เช่น การเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ การซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ การกินอยู่อย่างมีระดับ การแต่งกายตาสมัยนิยมและถ้าจะหาซื้อที่พักอาศัยก็มักจะซื้อคอนโดมีเนียมหรูๆ มากกว่าการซื้อที่ดินหรือการซื้อบ้าน หรือการซื้อรถยนต์หรูๆ มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยแต่ด้านเดียว เป็นต้น เพราะฉะนั้นคนหนุ่มสาวสมัยนี้จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจาก “คนรุ่นเรา” มากทีเดียว เพราะคนหนุ่มสาวสมัยนี้เป็นประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า “Work to Live” หมายความว่า การทำงานของพวกเขาเพื่อตอบสนองต่อความพึงพอใจในการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์กันว่าคนหนุ่มสาวในยุคถัดจากนี้ไป คุณค่าในการดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนไปอีกและจะเป็นประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า “Live then Work” ซึ่งหมายความว่า พวกเขามิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงในการอาชีพแบบคนรุ่นเรา แต่เขาจะใช้ชีวิตอย่างที่เขาพอใจและจะทำงานต่อเมื่อพวกเขาต้องการรายได้เพื่อจะนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่เขาอยากได้หรือเขาพอใจเท่านั้น
“Work to Live” คือการทำงานเพื่อตอบสนองต่อความพึงพอใจในการดำเนินชีวิต ทำให้คนหนุ่มสาวเปลี่ยนงานง่ายและหลากหลายกว่าคนรุ่นเก่า
อันที่จริง การเปลี่ยนแปลงคุณค่าในการดำเนินชีวิตของคนเรา มิได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะมันก็เหมือนกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาก็เพราะ “คนรุ่นเรา” ตามไม่ค่อยทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ชัดเจน และ “คนรุ่นเรา” จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ จึงมักจะยึดติดกับคุณค่าเดิมๆ ที่ “คนรุ่นเรา” ยึดถือและปฏิบัติ จึงทำให้เกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) และในหลายกรณีกลายเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัว

ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ง่ายนักและการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง เราไม่สามารถหยุดยั้งได้เลย ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นโจทย์สำหรับ “คนรุ่นเรา” ที่จะต้องสนใจติดตามศึกษาให้เข้าใจและตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น อย่างน้อย “คนรุ่นเรา” จะรู้และเข้าใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านั้นมาจากเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไร เพื่อว่าจะได้มีการสนทนาสื่อสารกับคนรุ่นลูกเราได้โดยไม่ขัดแย้งกัน

เราต้องไม่ลืมว่า ในวันที่แม่คลอดผมออกมาดูโลกนั้น (70 ปีที่แล้ว) แม่ผมมีอายุห่างจากผมเพียง 21 ปีเท่านั้น เพราะแม่แต่งงานเมื่ออายุ 19 ปี และแม่มีอายุแก่กว่าพี่ชายคนโตของผมเพียง 20 ปี แต่ในปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่า มีแม่จำนวนมากที่มีอายุแก่กว่าลูกคนแรกเกินกว่า 30 ปี และบางรายเกือบ 40 ปี แสดงว่า ช่องว่างระหว่างแม่กับลูกห่างกันมากขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียง 70 ปีที่ผ่านมา และยิ่งกว่านั้น มีแม่ในสมัยนี้จำนวนมากมิได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นช่องว่างกับลูกในอีกหลายด้านก็ยิ่งห่างกันมากขึ้น ด้วยเหตุนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แม่จำนวนมากตามความคิดของลูกไม่ค่อยทัน ผมคิดว่า ประเด็นเหล่านี้พ่อแม่หรือคนร่วมสมัยต้องให้ความสนใจให้มากทีเดียว

อีกประการหนึ่ง พ่อแม่ที่เป็น “คนรุ่นเรา” อย่าได้คาดหวังให้เกินความจริงว่า สมบัติพัสถานที่ “คนรุ่นเรา” ซื้อหาและสั่งสมไว้ให้กับลูกๆ ซึ่งเป็น “คนหนุ่มสาวสมัยนี้” นั้น พวกเขาจะสนใจดังที่เราคิด เพราะมีหลายกรณีที่ ลูกๆของเราซึ่งเป็น “คนหนุ่มสาวสมัยนี้” อาจจะไม่ใส่ใจกับสมบัติพัสถานที่เราสั่งสมไว้ก็ได้ ไม่เชื่อขอให้ศึกษาดูเถิด และถ้าเป็นจริงอย่างที่ผมว่า ก็อย่าได้เสียอกเสียใจหรือผิดหวังอะไรหรือไปดุด่าว่ากล่าวลูกๆจนเกิดความระหองระแหงภายในครอบครัว เพราะว่าคุณค่าในการดำเนินชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว และมีความแตกต่างกับคุณค่าที่คนรุ่นเรายึดถือ
ผมคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดก็คือการพูดคุยสื่อสารกันอย่างเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันเพิ่อเราจะได้จัดการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องกับยุคสมัยและตามความเป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น