xs
xsm
sm
md
lg

เผยเล่ห์นักการเมืองท้องถิ่น เรียกม็อบจี้เงินน้ำท่วมเรียกคะแนนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แหล่งข่าวเผยเล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยเรียกคะแนนนิยมหาเงินเยียวยาน้ำท่วมให้ชาวบ้าน แต่กฎเกณฑ์ชุดใหม่เข้มงวดหวั่นทำให้เบิกไม่ได้แล้วทำให้คะแนนตก ถูกชาวบ้านอัดซ้ำก่อนหน้าเลือกตั้ง พยายามบี้อำเภอซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้จ่ายเงินเยียวยา

จากกรณีที่พี่น้องชาว ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช จะนัดชุมนุมในวันที่ 5 เมษายน 2555 เพื่อเรียกร้องให้ทางอำเภอท่าศาลา ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่ง ต.ท่าขึ้น ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวน 2,301 ครัวเรือนนั้น

สำหรับประเด็นนี้ มีการขายผลทางการเมือง และปลุกปั่นประชาชนในพื้นที่ โดยนักการเมืองท้องถิ่นที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองในสมัยการเลือกตั้งที่มาถึง โดยใช้กระแสจุดอ่อนของประชาชนที่เรียกร้องเงินชดเชยจากกรณีน้ำท่วม ซึ่งกลุ่มนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนั้นได้รับการชดเชยตามระบบเรียบร้อยแล้ว ต่างจากในครั้งนี้ที่การเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบข้าราชการ

แหล่งข่าวในพื้นที่รายหนึ่งเผยว่า นักการเมืองกลุ่มนี้ได้อาศัยจังหวะและโอกาสในการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองจากกรณีน้ำท่วมประกาศให้ผู้เดือดร้อนมาลงชื่อ อาสายินดีประสานงานให้เรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์และเงื่อนไขไม่ง่ายดังที่ได้รับปากไว้จะเกิดผลลบต่อตัวเองในการเมือง จึงต้องดิ้นหาทางออก หรือทางลง จึงใช้วิธีการชุมนุมและเข้าใจว่าในการชุมนุมครั้งนี้ อาจชูประเด็นโดยการบูชายัญข้าราชการระดับอำเภอ เพื่อกระทบชิ่ง และลดกระแสจากการที่ตนเองไปรับปากประชาชนไว้

นายวีรพรรณ สุขวัลลิ ปลัดฝ่ายความมั่นคงท่าศาลา ได้ชี้แจงข้อมูลซึ่งสอดคล้องกัน คือ อุทกภัยครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 2 มกราคม 2555 เมื่อเกิดอุทกภัย อำเภอได้สั่งการให้คณะกรรมการสำรวจความเสียหายระดับหมู่บ้านออกไปสำรวจความเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการชุดังกล่าวประกอบไปด้วย 1.ผู้ใหญ่บ้าน 2.ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2-3 คน 3.สมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 2 คน 4.คณะกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ

คณะกรรมการสำรวจความเสียหายสำรวจความเสียหายได้ออกไปสำรวจผู้ที่จะได้รับวามช่วยเหลือ โดยมีหลักเกณฑ์คือ 1.น้ำท่วมบ้านเรือนฉับพลัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ 2.น้ำท่วมขังที่พักอาศัยเกิน 7 วัน หรือ 3.น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม เมื่อสำรวจเสร็จ คณะกรรมการได้ส่งข้อมูลให้ อบต. เพื่อจัดพิมพ์ข้อมูลส่งอำเภอ และอำเภอรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งให้ทางจังหวัดพิจารณา ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ได้รับความช่วยเหลือดังนี้

1.ทต.ท่าสาลา 767 ราย
2.ต.ท่าศาลา 5371 ราย
3.ต.กลาย 1752 ราย
4.ต.ท่าขึ้น 1038 ราย
5.หัวตะพาน 131 ราย
6.ต.สระแก้ว 405 ราย
7.โมคลาน 711 ราย
8.ไทยบุรี 268 ราย
9.ต.ดอนตะโก 671 ราย 1
0.ตลิงชัน 337 ราย
11.โพธิ์ทอง 1252 ราย
รวมผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งอำเภอ 12,704 ราย

กรณีพี่น้อง 2,301 ครัวเรือนของ ต.ท่าขึ้นนั้น ไม่ได้ผ่านการสำรวจ และรับรองจากคณะกรรมการในระดับหมู่บ้าน โดยรองนายก อบต.ท่าขึ้น และสมาชิก อบต.บางคนได้แจกใบปลิว รถแห่ ว่าถ้าใครอยากได้รับความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 ให้มาลงชื่อไว้ที่ อบต.ท่าขึ้น ปรากฎว่า มีผู้มาลงชื่อ 2,301 คนดังกล่าว

และ อบต.ท่าขึ้นได้รวบรวมรายชื่อส่งมายัง อ.ท่าศาลา โดยคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ก.ช.ภ.อ.) เห็นว่าอำเภอไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติเรื่องดังกล่าว จึงส่งไปยังจังหวัดพิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นทางอำเภอก็ได้มีการติดตาม และประชุมเพื่อหาทางออกให้พี่น้องที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับความช่วยเหลือด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 จังหวัดได้ประชุมเรื่องดังกล่าว และแจ้งว่าจังหวัดไม่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ แต่จะอุทธรณ์โดยส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องอยู่ในขั้นตอนดังกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการนี้เอง กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลท่าขึ้น และแสวงหาแนวร่วมในพื้นที่ใกล้เคียงทนกระแสกดดันจากการประชาชนที่รับปากไว้ไม่ไหว จึงสร้างประเด็นปัญหาของพี่น้องประชาชนให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง

ปลัดอำเภอคนดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มนักการเมืองกลุ่มนี้สร้างกระแสข่าวในพื้นที่ว่า ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวตำบลท่าขึ้น ทั้ง 2,301 ครัวเรือนมาแล้ว แต่ทางอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ไม่อนุมัติให้ความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลผิดและบิดเบือนจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง เพราะอำเภอ และจังหวัดไม่มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องดังกล่าว และไม่มีการอนุมัติให้การช่วยเหลือพี่น้อง ต.ท่าขึ้นเพิ่มเติมแต่อย่างใด

กระแสข่าว และข้อเท็จจริงที่บิดเบือนน่าจะออกมาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่นของ ต.ท่าขึ้น หวังปลุกระดมชาวบ้านสร้างกระแสนิยม เพราะปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต.ของ ต.ท่าขึ้น การชุมนุมดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในพื้นที่ แต่ต้องการหาทางลงของตนเอง เพื่อไม่ให้เสียคะแนนนิยมทางการเมือง

สำหรับประเด็นนี้ ต้องติดตามการเคลื่อนไหวอย่างกระชั้นชิด เพราะการใช้มวลชนที่มีจุดอ่อนย่อมเข้าทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย อาจมีการชุมนุมปิดถนนเพื่อกดดัน ในที่สุดประชาชนจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และคนเสียประโยชน์คือตัวประชาชนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น