xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยม “ปูแสบ” ค่าแรง300 ทุบอุตฯ ท่องเที่ยวกระอักรายจ่ายพุ่งเฉียดล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายามชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมธุรกิจโรงแรมหาดใหญ่ - สงขลา ชี้ผลกระทบต่อ 2 อุตสาหกรรมหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ไม่งามสมชื่อ สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา ชี้ผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เพิ่มรายจ่ายทั้งระบบพุ่งสูง 6-8แสน/เดือน เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมแช่แข็งที่ต้องแบกรับต้นทุนแน่นอน ชี้เปลี่ยนใจจากแผนลงทุนทำโรงแรมมาเป็นคอนโดฯ แทนเพราะรับภาระไม่ไหว

วันนี้ (31มี.ค.) นายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมธุรกิจโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา ระบุว่า รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการโดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหารมาก เพราะโรงแรมต้องจ้างพนักงาน 3 รอบใน 24 ชม. รายจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทำให้โรงแรมบางแห่งรายจ่ายทั้งระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 600,000-800,000 ต่อเดือน เพราะพนักงานที่เงินเดือนสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำต้องปรับด้วย ส่วนพนักงานที่ลาออกจะไม่มีการรับเพิ่ม แต่ให้พนักงานที่มีอยู่ทำงานมากขึ้น สุดท้ายต้องมีการปรับค่าห้องเพิ่มขึ้น เพราะทนสภาพขาดทุนกับนโยบายประชานิยมรัฐบาลไม่ไหว

นายสมชาติ กล่าวต่อว่า จากการที่ตนได้ซื้อที่ดินในกลางเมืองหาดใหญ่ 7 ไร่ ประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อจะสร้างโรงแรมระดับ 4 ดาว แต่มาประสบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล 300 บาท จึงเปลี่ยนใจไม่สร้างโรงแรม เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ไหว แต่จะหันไปสร้างคอนโดมิเดียมและบ้านจัดสรรแทน ซึ่งมีนักลงทุนหลายคนย้ายฐานการลงทุนไปประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากนโยบายรัฐบาลของมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามไม่ได้เป็นนโยบายแบบประชานิยม

ด้านนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรัฐบาล ส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้น้อยมาก เพราะค่าแรงขั้นต่ำในภาคใต้สูงกว่าวันละ 300 บาทแล้ว แต่จะกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งส่งออกและอุตสาหกรรมในภาคอีสานและนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่ นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้า จ.สงขลา เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ไม่กระทบกับอุตสาหกรรมในสงขลามากนัก มีเพียงอุตสาหกรรมบริการที่กระทบ แต่อุตสาหกรรมในสงขลาและภาคใต้ขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้วเพื่อดึงแรงงานเข้าทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น