คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อการร้ายใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งมีเหตุร้ายรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีปัจจัยที่นำสู่ความรุนแรงของการก่อการร้าย คือข่าวจาก หน่วยข่าวความมั่นคงที่ได้รับจาก “สายข่าว” ในพื้นที่ว่า
แกนนำของกลุ่มนักรบฟาตอนี หรือ “อาร์เคเค” ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต. ในเขตที่แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอิทธิพล จัดหาเครื่องแบบ เครื่องหมายของตำรวจ ทหาร อบต.ละ 20 ชุด เพื่อส่งมอบให้กับ “อาร์เคเค” ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
และยังมีการสั่งการของ “แกนนำ” ถึงบรรดาเจ้าของเต็นท์รถมือสองใน 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ซึ่งเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดที่เป็นสนับสนุนทางการเมืองให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน จัดเตรียมรถยนต์ด้วยการอำพราง ดัดแปลงให้คล้ายกับรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ให้อยู่ในลักษณะความพร้อมในการใช้งาน
ข่าวทางลับทั้ง 2 เรื่อง จึงเชื่อได้ว่าในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ กลุ่มนักรบฟาตอนี หรือ อาร์เคเค มีแผนในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดด้วยวิธีการที่เคยใช้และใช้ได้ผล เช่นการแต่งเครื่องแบบตำรวจ ใช้รถติดตราโล่และพ่นคำว่า สภ.ในพื้นที่ เข้าโจมตีปล้นปืนที่คุ้มครองหมู่บ้านบ้านกาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ฆ่าเจ้าหน้าที่และยึดอาวุธปืนไปได้จำนวน 7 กระบอก หรือการแต่งกายคล้ายทหารพรานเข้าไปยังฐานปฏิบัติการของทหารชุมคุ้มครองครู ก่อนฆ่าทิ้งทั้ง 5 คน และยึดปืนไปได้ 5 กระบอก และอีกหลายๆ คดี ที่คนร้ายแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าไป ปฏิบัติการฆ่าและปล้นอาวุธปืน
รวมทั้งใช้รถยนต์ที่ดัดแปลงให้เหมือนรถยนต์ของหน่วยราชการเป็น “คาร์บอมบ์” เช่น ทำสีรถ และติดสติ๊กเกอร์ของสาธารณสุข จ.ปัตตานี ประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” สร้างความเจ็บและตาย ให้กับประชาชนกลางเมืองปัตตานี และอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ใช้วิธีการเดียวกัน
จึงกลายเป็นประเด็นคำถามถึง ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศชต. ) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า ( ศปก. ) ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ โดยมีหน้าที่ปราบปราม ติดตามจับกุมการโจรกรรมรถยนต์ในพื้นที่รับผิดชอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์โจรกรรมรถยนต์มาเป็นเวลาหลายปี ศูนย์นี้ได้ทำหน้าที่ในการติดตามจับกุมรถยนต์ที่ “แนวร่วม” นำมาใช้ปฏิบัติการ ทั้งเป็นยานพาหนะในการโจมตีเจ้าหน้าที่ เข่นฆ่าประชาชน และนำไปประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” ได้ผลมากน้อยเพียงใด
เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยตรวจค้น จับกุม หรือยึดรถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุร้าย และใช้ในการประกอบ “คาร์บอมบ์” ได้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง รถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุทั้งหมดวนเวียนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดปฏิบัติการแต่ละครั้งของคนร้ายส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือทางหลวงแผ่นดิน ไม่ใช่ทางหลวงชนบท และหลังก่อเหตุเจ้าหน้าที่ไม่เคยสกัดจับได้ หรือติดตามตรวจพบและยึดได้แม้แต่คันเดียว
สิ่งที่ได้ประโยชน์จากศูนย์ฯดังกล่าว คือหลังเกิด “คาร์บอมบ์” จะได้ข้อมูลว่าเป็นรถของใคร และถูกโจรกรรมไปเมื่อวันที่เท่าไหร่ แจ้งความไว้ที่ไหน ประโยชน์ของศูนย์ฯ ที่เห็นจึงมีเพียงเป็นได้แค่ “ศูนย์ข้อมูล” เท่านั้น หาใช่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมอย่างการตั้งชื่อ
ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์” ก็ดี การแก้ปัญหาคนร้ายปฏิบัติการฆ่าคน ฆ่าเจ้าหน้าที่ ปล้นชิงอาวุธ รถยนต์ในพื้นที่ก็ดี จะสำเร็จได้นั้นต้องตรวจค้น ตรวจยึด จับกุมรถยนต์ ผู้ครอบครองรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา และถูกนำมาดัดแปลง ซึ่งรถเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ซ่อนหรือจอดไว้ในเต็นท์รถในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และซ่อนอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ที่เป็นเขตอิทธิพลของขบวนการ
ซึ่งเป็นหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและโจรกรรมรถยนต์ของ ศชต. ที่จะต้องหาวิธีการ สืบสวนสอบสวน เพื่อเข้าถึง “ข่าว” เข้าถึงสถานที่ซุกซ่อนรถยนต์เหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ศปก. และ ศชต. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น เพื่อรับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งมีเหตุรุนแรง และเป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีการก่อการร้าย มีความพยายามแบ่งแยกดินแดนเพื่อให้เป็น “รัฐเดียว”
ดังนั้นหน่วยงานทุกหน่วยต้องมีความเป็นลักษณะที่ “พิเศษ” กว่าหน่วยงานเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น บชภ.8 และ 9 เพราะหากตั้งขึ้นมาแล้ว มีลักษณะเดียวกับศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์เหมือนที่อื่นๆ ก็จะได้สามารถอวยประโยชน์ เพื่อการแก้ปัญหาการก่อการร้ายแต่อย่างใด
ล่าสุด พล.อ.อ.กำพล สุวรรณทัต รมว. กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการแก้ปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ต้องควบคุมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์ และการเคลื่อนไหวของบุคคล ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้อง แต่เรื่องอย่างนี้ กอ.รมน. ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จต้องเป็นงานของตำรวจ เป็นงานของ ศปก. หรือ ศชต. เพราะตำรวจเท่านั้นที่ถนัดงานด้านสืบสวนสอบสวน ติดตาม แกะรอย และจับกุม และที่สำคัญที่สุดตำรวจคือเจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมายที่ใช้กฎหมาย ป. วิอาญา อย่างเข้าใจ
ดังนั้น การแก้ปัญหา “คาร์บอมบ์” และการแก้ปัญหาปฏิบัติการรายวันบนท้องถนน ทั้งการโจมตีจุดตรวจ การโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะลดน้อยลงได้หรือไม่ จึงอยู่ที่ขีดความสามารถของ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ เป็นด้านหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศชต. ต้องเร่งในการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานให้สามารถสนองตอบต่อการแก้ปัญหาการก่อการร้ายให้ได้ผล
เพราะหากปล่อยให้ เหล่านักรบฟาตอนี หรือ “อาร์เคเค” มีเสรีในการเคลื่อนไหว โดยการใช้ยานพาหนะที่โจรกรรมมา ก่อเหตุร้ายตามอำเภอใจ สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจะรุนแรงยิ่งขึ้นและจะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเหลืออยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการย้ายถิ่นของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนที่เหลืออยู่กลายเป็น “แนวร่วม” จำยอมของขบวนการ ซึ่งจะนำไปสู่การพ่ายแพ้ทาง “การเมือง” ในที่สุด และนั่นคือความต้องการที่ “บีอาร์เอ็นฯ” ต้องการให้เป็น
และปัญหาเฉพาะหน้าในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ “แกนนำ” ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรง จากเหตุการณ์ล้อมปราบที่ มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี จนมีคนตายจำนวน 28 คน ซึ่งจากข่าวการจัดหาเครื่องแบบตำรวจและการจัดเตรียมรถยนต์ให้มีความพร้อม แสดงชัดเจนว่าต้องมีเหตุร้ายครั้งใหญ่อย่างแน่นอน ในเมื่อ “แนวร่วม” มีการเตรียมการและเตรียมพร้อมถึงขนาดนี้
ฝ่ายเรา ทั้ง กอ.รมน. และ ศชต. มีความพร้อมทั้งในการ “รุก” และตั้งรับกันพร้อมเพรียงแค่ไหน อย่าคิดเพียงว่า การที่ “แนวร่วม” ฆ่าผู้บริสุทธิ์มากขึ้น เราจะชนะทาง “ยุทธศาสตร์” เพราะประชาชนจะเคียดแค้น เกลียดชัง ไม่สนับสนุนแก่ขบวนการ เราจึงยอมเพลี่ยงพล้ำทาง “ยุทธวิธี” เพื่อเอาชนะทางยุทธศาสตร์ เพราะถ้าคิดกันได้แค่นี้จะเข้าตำรา “ถั่วสุก งาไหม้” หายนะ จะอยู่คู่กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอีกยาวนาน