ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พบโฉนดที่ดินเก่าแก่ 2 ฉบับ สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เป็นต้นฉบับของจริงดั้งเดิม และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้เป็นเอกสารสิทธิได้จนถึงปัจจุบัน
วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบโฉนดที่ดินเก่าแก่ 2 ฉบับสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และยังสามารถใช้เป็นเอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินได้จนถึงปัจจุบัน โดยโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ เป็นของ นางเครือวัลย์ จันทนา อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 197/9 ม.1 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ข้าราชการบำนาญอดีตหัวหน้าสถานีสื่อสาร จ.ปทุมธานี
หลังจากผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบกับ นางเครือวัลย์ เจ้าของโฉนดทั้งสองฉบับ โดย นางเครือวัลย์ ได้นำโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ มาแสดงให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับเป็นของฝ่ายสามีที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และที่ดินเป็นมรดกที่ตกทอดติดต่อกันมาตั้งแต่บรรณบุรุษจนถึงปัจจุบัน และยังสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้เหมือนกับโฉนดในปัจจุบันทุกประการ เนื่องจากได้เก็บดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี
สำหรับโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับมีขนาด 12 X 18 นิ้ว เป็นกระดาษสีน้ำตาล และภาษาที่ใช้ยังเป็นภาษาไทยแบบดั้งเดิม ฉบับแรกอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มี 3 หน้า โดยข้อความด้านหน้ามีตราแผ่นดินและระบุ พระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นตัวหนังสือหนาสีดำ ออกให้กับ นายจั่นบดีดาอำแดงทองคำบุตร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2457 เป็นโฉนดเลขที่ 7884 สาระบาญเล่มที่ 78 น่าที่ 84 ออกโดยอัมมาตย์เอกพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้บัญชาการ นายช้อย เจ้าพนักงานเกษตราธิการ รองอำมาตย์โทหลวงอินทราชา นายอำเภอ ที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่วัดหลวง ต.วัดหลวง อ.พนัศ (พนัศนิคมในปัจจุบัน) จ.ชลบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยโฉนดฉบับนี้มีอายุ 98 ปี
ส่วนโฉนดที่ดินฉบับที่ 2 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแตกต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นโฉนดแผ่นเดียวด้านหน้าเปลี่ยนเป็นตราครุฑ และมีพระนามเป็นตัวหนังสือหนาสีดำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ออกให้กับ นางเหงี่ยม อยู่ที่บ้านวัดหลวง ในหมู่ที่ 5 ต.วัดหลวง ในเขต อ.พนัศนิคม จ.ชลบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 24 ตารางวา โฉนดเลขที่ 10247 สาระบาญเล่มที่ 103 น่าที่ 47 ออกโดยอำมาตย์เอกพระยาสัจจาภิรมย์อุดมภักดี ผู้บัญชาการ รองอำมาตย์เอกหลวงวินิจสาลี กรมการตำแหน่งนา รองอำมาตย์โทขนนิคมนครินทร์ นายอำเภอ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2469 ซึ่งโฉนดฉบับนี้มีอายุ 86 ปี
สำหรับความโดดเด่นของโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับอยู่ที่การใช้ภาษาไทยดั้งเดิม เช่น คำว่า สารบัญ เขียนเป็น สาระบาญ คำว่าหน้าที่ เขียนเป็น น่าที่ คำว่าหลักฐาน เขียนว่า หลักถาน คำว่ามรดก เขียนเป็น มรฎก คำว่าประพฤติ เขียนว่า ประพฤติ์ คำว่า ภายหน้า เขียนว่า ภายน่า หรือคำว่า และ จะเขียนว่า แล รวมทั้งการเขียนข้อความคำว่าลงลายเซ็นพยานในการตรวจ แต่ใช้ภาษาว่าการลงเส้นกระแสพยานชัณสูตร์ เป็นต้น
นางเครือวัลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ที่ดินทั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของสามีตนยังครอบครองจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังใช้โฉนดที่ดินเก่าแก่ทั้งสองฉบับแสดงกรรมการสิทธิ์ โดยล่าสุดได้มีการตรวจเอกสารสิทธิ์เมื่อปี 2538 และ 2539 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโฉนดทั้งสองฉบับแต่อย่างใด เนื่องจากทางส่วนราชการต้องการให้ผู้ที่ถือครองโฉนดแบบนี้อนุรักษ์เอาไว้
สำหรับที่มาของโฉนดทั้งสองฉบับทราบจากสามี ว่า สมัยก่อนจะมีการออกโฉนดให้กับประชาชนที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น และเชื่อว่า น่าจะเป็นโฉนดที่เก่าแก่ และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งตนได้เก็บดูแลไว้เป็นอย่างดี โดยกำลังอยู่ระหว่างการหาร้านจัดทำกรอบไว้ใส่