ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ครม.สัญจรภูเก็ต รุกคัดค้านโครงการพัฒนาภาคใต้ด้วยการพัฒนาที่เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือปากบาราที่จ.สตูล และโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ระบุ “เส้นทางการพัฒนาภาคใต้ ประชาชนคนท้องถิ่นต้องร่วมกำหนดขึ้นเอง”
เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.วันนี้ (20 มี.ค.) ที่บริเวณประตูอิราวดีทางเข้ามอ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมครม.สัญจร อย่างเป็นทางการ “ครือข่ายประชาชนภาคใต้ ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ครม.สัญจร ภูเก็ต” นำโดยนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายสุไลมาน บือราเอง ตัวแทนเครือข่ายฯ พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายฯประมาณ 20 คน นำป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้มากาง พร้อมอ่านแถลงค้านคัดค้านการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ของรัฐบาล
โดยนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 มีใจความ ว่า ในฐานเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาภาคใต้ด้วยโครงการ การพัฒนาที่เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากมองว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะนำไปสู้การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในอนาคต และเป็นแผนการร่วมกันของนักพัฒนาเศรษฐกิจ บริษัทของนักลงทุนข้ามชาติ และพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งจะทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เปลี่ยนโฉมไปเพื่อรองรับ “อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ” หรืออุตสาหกรรมเลื่อนลอย” ที่คนเพียงกลุ่มน้อยเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่เลื่อนลอยไปเรื่อยๆโดยไม่รับผิดชอบ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วที่ ภาคตะวันออก-มาบตาพุด
“ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีกลับให้ความสำคัญและรับฟังเสียงจากที่ประชุมคณะกรรมร่วมภาครัฐเอกชนฯ หรือ กรอ. เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นหลัก ทั้งยังมีการเสนอแผนพัฒนาต่างๆ รวมถึงการทำแลนด์บริดจ์ (สงขลา-สตูล) และท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยละเลยขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้อง และไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่คิดถึงศักยภาพการพัฒนาแบบใหม่ๆ”
ในส่วนของเครือข่ายฯ มีความคิดเห็นว่า กลุ่มทุนในภาคเอกชนของแต่ละจังหวัดเป็นเพียงตัวแทนของกลุ่มผู้ร่ำรวยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนทั้งหมด ขณะที่ตัวแทนของจังหวัดมีฐานะเป็นเพียงนอมินีหรือตัวแทนของรัฐบาลกลางเท่านั้น ไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าตนเป็นเสียงของคนท้องถิ่น จึงขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มภาคเอกชน และขอคัดค้านแผนพัฒนาใดๆ ก็ตามที่อาจถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีส่วนร่วมจากคนส่วนใหญ่
ในส่วนของเครือข่ายฯ หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่มาจากเสียงของประชาชนฐานราก จะเคารพและเข้าใจหลักการเหล่านี้ และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆในท้องถิ่นร่วมกันสร้างสรรค์การพัฒนาในแบบใหม่ๆ ไม่ทำลายผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพื่อคนส่วนน้อย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน วันนี้ทางเครือข่ายจึงมาติดตามการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม “เส้นทางการพัฒนาภาคใต้ ประชาชนคนท้องถิ่นต้องร่วมกำหนดขึ้นเอง