xs
xsm
sm
md
lg

‘คปสม.’ร้องนายกฯแก้ปัญหาคนจน เครือข่ายเพชรเกษม 41 ต้านเมกะโปรเจกต์ใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สงขลา - เครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต คปสม.ร่วม 300 คน ยื่นหนังสือร้องนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาคนจน ขณะที่เครือข่ายเพชรเกษม 41 ต้านเมกะโปรเจกต์ภาคใต้

วันนี้(19 มี.ค.) เครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ในนามเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ประมาณ 300 คน รวมตัวกันที่บริเวณถนนฝั่งตรงข้ามรั้วท่าอากาศยานภูเก็ต

ขณะเคลื่อนถึงบริเวณสนามแยกไฟแดงระยะทางห่างจากสนามบินภูเก็ตประมาณ 500 เมตร พล.ต.ต.ชลิต ถิ่นธานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 ฝ่ายอำนวยการ นำกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 150 นาย เข้าสกัดกั้นเพื่อเจรจาให้ยุติการเคลื่อนไหวไปยังสนามบิน โดยใช้เวลาในการเจรจาประมาณ 30 นาที

จนได้ข้อสรุปว่าให้มีการเคลื่อนขบวนต่อไปได้ และอนุญาตให้มีการส่งตัวแทนจำนวน 15 คนรอพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในบริเวณด้านห้องรับรองพิเศษภายในสนามบินภูเก็ต โดยมีกองกำลังจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 150 นายนำขบวน

นางสาวฒุฒิพร ทิพย์วงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต และตัวแทนของกลุ่ม 15 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ บริเวณด้านห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่ามกลางมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดภูเก็ต ที่เดินทางมาให้กำลังใจอย่างเนืองแน่น และมีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเต็มกำลัง

นางสาวฒุฒิพร ได้ขอให้นายกฯ และรัฐบาลเร่งดำเนินการ 4 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาล ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 เรื่องการประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน วัฒนธรรมของชาวเล เป็นต้น

เร่งรัดให้มีการออกโฉนดชุมชนในพื้นที่ภูเก็ต ซึ่งมีชุมชนที่ต้องการโฉนดชุมชนทั้งหมด 17 แห่ง ขณะนี้ทางคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปชช.)ได้ผ่านการเห็นชอบไปแล้ว 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนคลองเกาะผี ท่าเรือใหม่รัษฎา สะปำ ท่าสัก อ่าวยนต์ แหลมหลา และปากบาง แต่ยังไม่สามารถออกโฉนดชุมชนได้ รวมทั้งในส่วนของชุมชนที่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบฯ ก็ขอให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน ขอให้ช่วยแก้ปัญหา เรื่องชุมชน 2-3 แห่งในภูเก็ต เช่น ชุมชนหลังสวนหลวง ร.9 ชุมชนโคกโตนด ชุมชนชาวเลราไวย์ ที่ถูกนายทุนฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดิน

และให้หน่วยงานของรัฐนำระบบสาธารณูปโภค ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้าเข้าไปยังชุมชนต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ โดยด่วนที่สุด เพราะชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหน่วยละ 20-40 บาท รวมทั้งค่าน้ำประปา บางครอบครัวต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สูงถึงเดือนละ 4,000 บาท ในขณะนี้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นในแต่ละวัน

นางสาวยิ่งลักษณ์ รับฟังปัญหาพร้อมรับปากว่าจะนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน จากนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางไปพบกลุ่มมวลชนจากเครือข่ายต่างๆ ที่รอรับอยู่บริเวณรั้วปากทางเข้าสนามบินด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่อที่จังหวัดพังงา

ขณะที่บนสะพานสารสิน รอยต่อระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ตฝั่งขาออก เครือข่ายภาคประชาชน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในชื่อเครือข่ายเพชรเกษม 41 ประมาณ 30 คน ได้รวมตัวกัน เขียนข้อความบนป้ายผ้าสีเขียวว่า หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ ฉบับนายทุน ก่อนร่วมกันถือป้ายและธงสีเขียวแสดงต่อรถที่วิ่งผ่านไปมา

มีการเคลื่อนขบวนจากกลางสะพานไปต้นสะพานฝั่งตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยปราบจราจล อาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 200 นาย ตรึงสถานการณ์

เครือข่ายเพชรเกษม 41 ได้มีการแจกหนังสืออธิบายเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ในจังหวัดสตูล ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขื่อนคลองช้าง นิคมอุตสาหกรรมละงู-มะนัง รถไฟรางคู่ คลังน้ำมัน ท่อก๊าซและท่อน้ำมันเชื่อมจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ริมถนนที่ให้ความสนใจ

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล หนึ่งในเครือข่ายเพชรเกษม 41 ปราศรัยว่า เหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่อาจนำเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันพรุ่งนี้ เหตุที่ไม่ยื่นหนังสือกับนายกฯ เพราะที่ผ่านมาเพราะสมัชชาสุขภาพเคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนแต่ผลออกมาก็ไม่ตอบสนองกับความต้องการแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มาประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย จึงตัดสินใจไม่ยื่นหนังสือ

“ตอนแรกเราจะยกพลกันมาจำนวนมากแต่ไม่อยากให้มีการเผชิญหน้ากับมวลชนเสื้อแดง และคนที่มาต้อนรับนายกฯ เราจึงตั้งใจมากันแค่ 30 คน หากรัฐบาลยังผลักดันแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเจอกับปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เข้มข้นขึ้นแน่” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้(20 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต และมีแนวโน้มว่าจะมีการอนุมัติเมกะโปรเจ็กต์ในภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการที่สุ่มเสี่ยงที่สุดคือท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เหลือเพียงแค่กระบวนการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 ไร่ เท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแผนพัฒนาและฟื้นฟูประเทศตามแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) ด้วย

สำหรับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นหนึ่งในแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่มีท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรม ทั้งฝั่งสงขลา-สตูล และมีท่อขนส่งก๊าซ ท่อน้ำมันเชื่อมต่อ ที่เหลือเพียงแค่กระบวนการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 ไร่ เท่านั้น

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)






กำลังโหลดความคิดเห็น