ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาคภาครัฐ-เอกชนในภูเก็ตร่วมนำ “นีโม่-ม้าน้ำ-เต่าทะเล” กลับบ้าน หวังอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เผยความคืบหน้าการจัดเตรียมพื้นที่ใต้ทะเลต้อนรับนีโม่-ม้าน้ำ กลับบ้านเสร็จแล้ว
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่สวนผีเสื้อและโลกแมลงภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายเกรียงศักดิ์ จารุพงศ์วิวัฒน์ ผู้จัดโครงการ “แฟมิลี่แรลลี่ ฟื้นฟูทะเลไทยร่วมใจคืนบ้านให้ปลาการ์ตูน” พร้อมด้วยนายโชคชัย รินชะ หัวหน้าสถานีวิทยุ อสมท.ภูเก็ต นายใจเพชร หัตถกรรม กรรมการผู้จัดการ สวนผีเสื้อและโลกแมลงภูเก็ต นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการจัดโครงการแฟมิลี่แรลลี่ ฟื้นฟูทะเลไทยร่วมใจคืนบ้านให้ปลาการ์ตูน
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้สภาวะแวดล้อมทางทะเล มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการแพร่ขยายพันธุ์ การเจริญเติบโต รวมถึงความหลากหลายของสัตว์น้ำและปริมาณลดลง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วประเทศ ที่มีมากกว่า 20 แห่ง ทำให้ความต้องการสัตว์ทะเลสวยงามมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น ปลาการ์ตูน ปลาสลิดหิน ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ม้าน้ำ และสัตว์ทะเลที่หาดูได้ยาก เช่น ปลากระเบน ปลาฉลาม รวมทั้งปะการัง และดอกไม้ทะเล
ทางคณะผู้จัดงานซึ่งประกอบด้วยเชฟโรเลต ภูเก็ต สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ทัพเรือภาคที่ 3 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สวนผีเสื้อและโลกแมลงภูเก็ต สถานีวิทยุ อสมท.ภูเก็ต และนิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน จึงได้จัดโครงการ “แฟมิลี่แรลลี่ ฟื้นฟูทะเลไทยร่วมใจคืนบ้านให้ปลาการ์ตูน” ขึ้น เพื่อปล่อยพันธุ์ปลาการ์ตูน และม้าน้ำ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่มีความสวยงามคืนกลับสู่ธรรมชาติ
งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่เกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยใช้นักประดาน้ำดำน้ำลงไปปล่อยในจุดที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการปล่อยปลาการ์ตูนจำนวน 88 คู่ ม้านำจำนวน 85 ตัว เต่าทะเลจำนวน 85 ตัว พันธุ์ปลากะพงขาว 8,500 ตัว และกุ้งทะเลจำนวน 850,000 ตัว โดยขบวนแรลลี่ออกเดินทางจากปลายแหลมสะพานหิน ไปจนถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่แหลมพันวา หลังจากนั้นจะเดินทางโดยทางเรือต่อไปยังเกาะไม้ท่อน เพื่อร่วมกับปล่อยสัตว์ทะเลกลับสู่บ้าน
สำหรับการปล่อยปลาการ์ตูนและม้าน้ำนั้นมีความแตกต่างกับการปล่อยปลาหรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ซึ่งในส่วนของการปล่อยปลาการ์ตูน คนที่ปล่อยจะต้องลงไปปล่อยในทะเลลึกที่มีดอกไม้ทะเล เนื่องจากปลาการ์ตูนจะอาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเล และการปล่อยจะนำปลาการ์ตูนแต่ละคู่ไปปล่อยในดอกไม้ทะเลโดยจะต้องใช้ถุงครอบปลาและดอกไม้ทะเลเข้าด้วยกันประมาณ 30 นาที เพื่อให้ปลาการ์ตูนทำความคุ้นเคยกับดอกไม้ทะเล
เช่นเดียวกับการปล่อยม้าน้ำ ซึ่งม้านั้นนั้นจะอาศัยอยู่ในแส้ทะเล ปัจจุบันแส้ทะเลมีน้อยก็ต้องทำแส้ทะเลเทียมขึ้นมาเพื่อให้ม้าน้ำอาศัย รวมทั้งพื้นที่การวางแส้ทะเลเทียมก็ต้องมีความเหมาะสม มีช่องที่ให้ม้าน้ำหลบภัยได้ ซึ่งขณะนี้การวางแส้ทะเลเทียมและหาแหล่งดอกไม้ทะเลเสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะต้อนรับปลาการ์ตูนและม้าน้ำแล้ว
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภายในงานนอกจากจะมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมการสอนวาดภาพปลาการ์ตูนโดยอาจารย์ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินและครูศิลปะนานาชาติชื่อดังด้วย
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้ง เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องของระบบนิเวศทางทะเลให้แก่เยาวชนและครอบครัว ปลุกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน และ ครอบครัวให้เกิดความรัก และหวงแหนระบบนิเวศน์ในทะเลอันดามัน เพิ่มความสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำให้กับท้องทะเล สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และสร้างความสามัคคีระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อหารายได้สนับสนุนงานวิจัยฯโครงการฟื้นฟูทะเลไทยร่วมใจคืนปลาการ์ตูนสู่ท้องทะเล และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ.2555
ขณะที่นางบังอรรัตน์ ชินะประยูร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต กล่าว ว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างดี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ถ้าทรัพยากรธรรมชาติยังคงมีความสวยงามและมีความสมบูรณ์ ก็ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้