xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยส่อแววเจ๊ง เรียกร้องรัฐพยุงราคา-ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง - เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยใน จ.พัทลุง ส่อแววเจ๊ง ตั้งข้อเรียกร้องให้รัฐพยุงราคาและจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ หลังราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลดต่ำกว่าต้นทุนต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกลุ่มทุนและบริษัทในเครือก็แย่งชิงตลาดอย่างหนัก

นายสมยศ เพชรา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุงมีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดในภาคใต้ และเป็นอันดับสามของประเทศ ผลิตสุกรขุนไม่น้อยกว่า 400,000 ตัวต่อปี โดยส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายใน 14 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดนครปฐมไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 ตัว เป็นร้อยละ 70 ของจำนวนสุกรในพัทลุง คิดเป็นมูลค่า 960 ล้านบาท

ใช้บริโภคภายในจังหวัดไม่น้อยกว่า 8,000 ตัว ร้อยละ 30 เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 384 ล้านบาทต่อเดือน ต้นทุนการผลิตสุกรทั่วไปอยู่ที่ 59 - 61 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่ผสมอาหารใช้เองอาจมีต้นทุนต่ำกว่าไม่มากนัก

“ปัจจุบันราคาสุกรทั่วไปของพัทลุง อยู่ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขตภาคใต้ ขณะนี้อยู่ที่ 46 - 48 บาทต่อกิโลกรัม จากสภาวะราคาสุกรดังกล่าวทำให้ผู้เลี้ยงสุกรต้องขายสุกรขาดทุนตัวละ 1,800 - 2,000 บาทต่อตัว” ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุง จำกัด กล่าว

นายสมยศ ยังกล่าวอีกว่า แนวโน้มของราคาสุกรขุนตกต่ำลงเรื่อยๆ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ราคาสุกรขุนจะตกต่ำต่อเนื่องไปประมาณ 18 เดือน ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวนมากของจังหวัดพัทลุงต้องล้มละลาย ทำให้การเลี้ยงสุกรตกอยู่ในมือบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย

สำหรับการแก้ไขราคาสุกรตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี ของจังหวัดพัทลุง สหกรณ์ได้มีการเคลื่อนไหวรับมือมาตลอดตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีการทำหนังสือถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 มีการประชุมร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีผลในการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมใดๆ

นายสมยศ กล่าวอีกว่า หลายสหกรณ์ได้ดำเนินการเปิดเขียงสุกรจำหน่ายเนื้อสุกรราคาถูก มีการติดต่อเครือข่ายสหกรณ์ในต่างจังหวัดเพื่อลดจำนวนสุกรขุนในจังหวัดพัทลุงลง และเพื่อกระตุ้นการบริโภคเนื้อสุกรให้มากขึ้น แต่ถึงขณะนี้ลดจำนวนสุกรขุนได้ไม่ถึงร้อยละ 1

ข้อเรียกร้องต่อหน่วยราชการและภาครัฐ คือปัญหาราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา และหนักหน่วงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคการเมือง และภาครัฐยังลอยตัวเหนือปัญหาของเกษตรกร ทั้งนี้อาจเกิดจากมุมมองที่เห็นว่าเมื่อจำนวนสุกรมากราคาสุกรมีชีวิตย่อมตกต่ำเป็นปกติ

"แต่อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของปัญหาในปัจจุบันนั้นต่างจากปัญหาราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำในอดีตมาก ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสุกรในครอบครองของบริษัทใหญ่และเครือข่าย กับสัดส่วนของสุกรในครอบครองของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทุนเอง เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว มีสัดส่วนที่ต่างจากอดีตมาก" นายสมยศ ให้ความเห็นก่อนจะเสริมอีกว่า

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใหญ่เข้ามาใช้โรงฆ่าสัตว์ ใช้กลไกที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของจังหวัดเป็นฐานในการขยายตลาดของพวกเขาในจังหวัดพัทลุงและห้างใหญ่ที่เกิดขึ้นในพัทลุง จากเงื่อนไขเบื้องต้นว่าจะจะช่วยเหลือชาวพัทลุงในภาวะที่ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ก็เป็นเพียงคำอ้างอิงที่ไม่มีผลทางการปฏิบัติแต่ประการใดเพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลางและรายอิสระต่างๆ ของจังหวัดพัทลุง

เครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดพัทลุง จึงเรียกร้องต่อจังหวัดพัทลุง และรัฐบาล ดังนี้

1.ให้มีการส่งเสริมการจำหน่ายเนื้อสุกรราคาถูกต่อไป และให้ทุกสหกรณ์มีเขียงสะอาดเพื่อจำหน่ายเนื้อสุกรอย่างต่อเนื่อง

2.ขอให้ใช้เงินจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเข้ามาพยุงราคา และย้ายสุกรขุนน้ำหนักเกินที่ตกค้างอยู่ในจังหวัดพัทลุง ประมาณ 5,000 ตัวออกไป

3.สนับสนุนให้เครือข่ายสหกรณ์มีโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตราคาไม่ให้เกิดซ้ำซากเช่นปัจจุบัน

4.แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจังหวัดขึ้นมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลจำนวนสุกรทุกด้าน และมีการจัดสรรโควตาที่เป็นธรรมขึ้นในจังหวัดพัทลุง
กำลังโหลดความคิดเห็น