ตรัง - จ.ตรัง เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะจะส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ หวังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า สืบเนื่องจากตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจได้มีกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้าในประเทศไทย หรือการค้าโลก ซึ่งส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน รวมทั้งจังหวัดตรัง
ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบอุตสาหกรรม เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรับ และสามารถฝ่ากระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ได้ และเพื่อที่จะสร้างศักยภาพหรือขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปี 2555 นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ได้มีการดำเนินงานด้านต่างๆ มาแล้วหลายด้าน เช่น การนำเสนอประเด็นอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอย่างวิกฤต หรือผลกระทบจากนโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะมีการจัดอบรม สัมมนา เพื่อการพัฒนาบุคลากรและองค์กร รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในระดับจังหวัด ภาคและประเทศแล้ว ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ยังเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ และคณะทำงานในด้านต่างๆ ด้วย
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดตรัง จะต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในด้านบวก และด้านลบต่อจังหวัดตรัง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยยังมีผลผูกพันให้ต้องเปิดเสรีในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ และการดำเนินงานตามความร่วมมือรายสาขาอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านเกษตรอาหารและป่าไม้ ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ดังนั้น การปฏิรูปทุกด้านควรมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจังหวัดตรังจะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ หรือประเมินศักยภาพจากการเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ และเตรียมความพร้อมรับมือจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกำลังจะเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และสร้างกลไกในการเยียวยา หรือมาตรการสนับสนุนต่างๆ ขึ้นมารองรับ
ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีความพร้อมในการรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จะต้องจัดฝึกอบรมพัฒนาด้านภาษาให้แก่บุคลากรในองค์กร รวมทั้งควรจัดตั้งคณะทำงาน หรือหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภาคเกษตร ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าวด้วย