คอลัมน์ : แลนอกกระแส
โดย...ตัว แสบ
“สงครามเป็นดินแดนของความไม่แน่นอน - สามในสี่ของปัจจัยซึ่งเป็นพื้นฐานของการกระทำในสงครามก็ถูกห่อด้วยหมอกของความไม่แน่นอนไม่มากก็น้อย” (คาร์ลฟอนคลอสวิทส์ เรื่องสงคราม, 2375)
ตั้งแต่การเลือกตั้งระดับชาติในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะผลักดันให้สื่อสาธารณะสนใจ (ยกเว้นระเบิดที่สุไหงโก-ลกในเดือนกันยายน 2554) นั่นคือ...จนถึงเหตุการณ์ 4 ศพที่หนองจิกเมื่อ 29 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา เรื่องความพยายามของเอ็นจีโอบางส่วนในช่วงหลังการเลือกตั้งที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพิจารณาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดตั้งพื้นที่ปกครองพิเศษ ไม่ต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญสำหรับรัฐบาลหรือกองทัพ...และดังนั้นก็ไม่สำคัญที่จะรายงานอย่างล้ำลึกสำหรับสื่อกรุงเทพฯ ด้วย
ผมไม่แปลกใจในเรื่องความเงียบของสื่อใน 6 เดือนที่ผ่านมานี้ เพราะในความจริงสาเหตุหนึ่งคือ ความรุนแรงในระดับต่ำ (low intensity conflict) ของภาคใต้ได้กลายเป็นสิ่งปกติ
สาเหตุที่สองที่สื่อไม่สนใจสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เพียงเพราะตั้งสมาธิอยู่กับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่เป็นเพราะนโยบายและภาษาของรัฐเรื่อง “การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้” พูดง่ายๆ ก็คือ น่าเบื่อและน่าเอือมระอา - การแถลงนโยบายเรื่องใต้ของรัฐบาลชุดล่าสุด ประกาศซ้ำเกือบคำต่อคำเหมือนกับสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยเน้นการรักษาความปลอดภัยของประชาชน และมุ่งการพัฒนาบนพื้นฐานของพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา”
ในความเป็นจริง นโยบายรัฐที่นำด้วยสโลแกน ”การพัฒนา” และ “ยุติธรรม” (ซึ่งเราคุ้นเคยจนเบื่อแล้ว!) เกิดมานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ในปี 2549 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แม้จะมีสโลแกน “การเมืองนำการทหาร” แต่ก็ไม่ได้นำเสนอสิ่งใหม่ นอกจากยกระดับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยพระราชบัญญัติที่ตามข้ออ้างว่าจะ “บูรณาการการทำงานหน่วยงานของรัฐ” (อีกแล้ว!) แต่แท้ที่จริงกลับขยายอำนาจและพื้นที่รับผิดชอบ (ศอ.บต.ใหม่ดูแล 5 จังหวัด) ของข้าราชการพลเรือน ซึ่งไม่ชอบอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร (กอ.รมน.ภาค 4) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำลังยุ่งกับน้ำท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ ข้าราชการใหญ่พยายามที่จะสร้างภาพในภาคใต้ นั่นคือ เลขาธิการใหม่ของ ศอ.บต. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ทวีขึ้นตำแหน่งใหม่แทนอดีตผู้อำนวยการภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ศอ.บต.ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะภาณุเคยมีประสบการณ์มากในการทำงานกับชุมชนและผู้นำในชายแดนภาคใต้ และมีการวิจารณ์ว่าทวีได้รับเลือกเพราะเขาเป็นเสี่ยวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นที่ชัดเจนว่าทวีไม่ได้เสนออะไรใหม่ๆ ในทางนโยบายและโครงการต่างๆ สำหรับ ศอ.บต. ทวีประกาศว่าสิ่งสำคัญของเขาคือ การเพิ่มเงินชดเชยให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง (หรือ “การเยียวยา”)
นอกเหนือจากนี้ ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทวีเน้นว่าเพื่อให้บรรลุ “ยุติธรรม” กฎหมายไม่ควรนำมาใช้อย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร - ในแง่ที่เป็นรูปธรรม นิยามของ “ยุติธรรม” แบบนี้หมายถึง ความจำเป็นที่จะลดน้ำหนักของการลงโทษสำหรับผู้ที่ขังอยู่ในเรือนจำตามคดีความมั่นคง และการจัดหาเงินทุนสำหรับการประกันตัวนักโทษที่รอการพิจารณาคดี - แต่ไม่มีอะไรใหม่ในเรื่องนี้
ทวีโอ้อวดในคำประกาศเพราะทหารใน กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมทำงานอย่างเงียบๆ และอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหานี้ อย่างน้อยก็หนึ่งปีมาแล้ว (และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกฤษฎา บุญราช มีโครงการเช่นกันด้วย ก่อนที่ท่านจะย้ายไปสงขลา)
มีหลายมิติในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกรอบยุติธรรม หน้าที่และอำนาจที่สำคัญของ ศอ.บต. รวมถึงอำนาจสั่งย้ายข้าราชการไม่ดีออกนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตามการใช้สโลแกน “ยุติธรรม” ก็มีผลหากมีการใช้มากเกินไป - แต่ข้าราชการชอบคำนี้ เช่นเดียวกับทหารชอบ “พัฒนา”
สรุปแล้ว พ.ต.อ.ทวีตามกระแสของข้าราชการและรัฐบาล - “การพัฒนา” และ “ยุติธรรม” ติดปากและติดอยู่บนป้ายโฆษณาของข้าราชการในภาคใต้มายาวนานแล้ว
คำพูดและกิจกรรมของทวีแสดงวัฒนธรรมของข้าราชการไทยในชายแดนใต้อย่างชัดเจน - ติดอยู่กับสโลแกนและชื่นชมภาพของตัวเองเสมอตามแฟชั่นราชการผู้ใหญ่ในภาคใต้ ทวีสร้างสโลแกนของเขาเอง “ยุติธรรมนำการเมือง” - ซึ่งตัวผมเองไม่ทราบว่ามันหมายถึงอะไร!
ก่อนที่เขาจะมาถึงอยู่จังหวัดชายแดนใต้ ข้าราชการตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนนในจังหวัดปัตตานีและยะลาที่แสดงสโลแกนนี้ และใบหน้ายิ้มแย้มของทวี แต่นอกเหนือจากการแจกจ่ายเงิน - “ความยุติธรรม” หมายความว่าอย่างไร??
จากการกระทำของทวี สงสัยว่ามันหมายถึงการทำให้ชาวบ้านและผู้นำศาสนาอิสลามพอใจ - สามารถมองเห็นชัดเจนในการเปิดโรงเรียนอิสลามบูรพาใหม่ หลังจากโรงเรียนแห่งนี้ถูกปิดมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากเจ้าหน้าความมั่นคงพบวัตถุระเบิด ฯลฯ ซึ่งทหารบางคนไม่พอใจกับทวีในเรื่องนี้ - เห็นว่าเขา “เข้าทางโจร” แล้ว เพื่อที่จะทำงานสบายในพื้นที่
แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามของข้าราชการใหญ่เพื่อที่จะสร้างภาพที่แสดงว่าตัวเองเป็น ”คนดี” และในขณะเดียวกันเสริมสร้างความชอบธรรมของรัฐไทย นับว่าเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อ 29 มกราคมเพราะ - โดยเหตุการณ์นี้ ทุกฝ่ายรวมทั้งข้าราชการ ทหารและชาวบ้านเจอ “หมอกของสงคราม” ที่ขจรขจายทั่วพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ถึงแม้พวกเขายังไม่ยอมรับมันอย่างแท้จริง - ภาวะนี้ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยคำพูดหวานและสโลแกน
ผู้อ่านอาจจะได้ติดตามข่าวต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 29 มกราคมแล้ว สรุปสั้น ๆ ที่นี่ - ในตอนดึกของวันนั้นทหารพรานจากกรมทหารพราน 43 ที่ปฏิบัติหน้าที่ในอำเภอนองจิก จังหวัดปัตตานี ยิงถล่มรถกระบะต้องสงสัยทำให้ชาวบ้านมุสลิม 4 คนเสียชีวิต อีก 4 คนได้รับบาดเจ็บ(หนึ่งคนต่อมาเสียชีวิตในโรงพยาบาล)
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเกิดความสับสน เพราะรายละเอียดจากแหล่งต่างๆ แตกต่างกันมาก ที่เรารู้แน่นอนคือ ก่อนเหตุการณ์ยิง (ประมาณ 3 ชั่วโมง) มีการโจมตีฐานทหารพรานโดยระเบิด M-79 เหตุการณ์ยิงเกิดขึ้น 2
กิโลเมตรจากจุดที่ระเบิด แต่ข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน ทหารพรานอ้างว่าเขาเห็นคนในรถยิงก่อนที่พวกเขายิง และเขาพบปืน AK 47 ในรถหลังจากเหตุการณ์ แต่ในทางตรงกันข้ามชาวบ้านรอดชีวิตอ้างว่า ในคืนนั้นพวกเขากำลังเดินทางไปที่งานศพญาติและไม่มีปืนในรถ
ความวุ่นวายปะทุขึ้นทันทีในสื่อระดับชาติและในเว็บไซต์ต่างๆ
ที่นี่ก็ไม่จำเป็นที่จะบรรยายถึงรายละเอียดมากกว่านี้เกี่ยวกับเหตุการณ์หนองจิก เพราะคนอื่นๆ เขียนมากอยู่แล้ว เพียงแต่จะชี้ให้เห็นบางประเด็นที่มีความสำคัญในระดับของการวิเคราะห์ภาพรวมดังนี้คือ
1) การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นบนเวทีสาธารณะ มีลักษณะเดิมที่เราสามารถสังเกตได้ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การก่อความไม่สงบเริ่มขึ้นในปี 2547 - ทหารเสียหน้า แล้วโยนความผิดให้ฝ่ายอื่นๆ - ข้าราชการเสียหน้า แล้วโยนความผิดให้ฝ่ายอื่นๆ- นักข่าวที่มุ่งร้ายต่อทหาร ให้คำตัดสินของความผิดล่วงหน้า - เอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องเพื่อ “ความยุติธรรม” และตำหนิกองทัพและรัฐในนามของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ - ชาวบ้านรับความเดือดร้อนและรู้สึกเสียวไส้ - เหตุการณ์ที่หนองจิกทำให้เกิดวาทกรรมที่ปะทะกันเหมือนแผ่นเสียงเกิดรอยขีดข่วน
นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสอบสวน ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 กำลังดำเนินการ ในขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีจัดตั้งคณะกรรมการของเขาเอง เพื่อที่จะค้นหาความจริงของเหตุการณ์หนองจิก ดูเหมือนว่าราชการต้องการที่จะรักษาหน้า และรักษาระยะห่างจากกองทัพเช่นกัน - คนต่างๆ ที่รับผิดชอบได้บอกว่า กระบวนการสอบสวนจะเสร็จสิ้นและรายงานผลใน 30 วัน - แต่จากการอ่านข่าวและความเห็นในเว็บไซต์ ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายเป็นตัวละครที่เป็นได้ทั้งผู้ทำความผิดและผู้บริสุทธิ์
2) สิ่งที่สำคัญสำคัญที่สุดเป็นสิ่งแทบไม่มีใครได้กล่าวถึง นั่นคือ จังหวัดชายแดนใต้อยู่ในสภาพของสงครามสกปรก -ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่ในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า ปัญหา “ช้างในห้อง” คือปัญหาที่เห็นกันอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่ที่ไม่มีใครอยากแตะต้อง
สงครามสกปรกคือ เป็นสงครามที่ทุกคนอยู่ในแถวหน้า สงครามสกปรกเป็นสภาวะของการต่อสู้ เมื่อฝ่ายการต่อสู้ไม่ชัดเจน และเมื่อลักษณะของการต่อสู้แบบไม่ได้เป็นไปตามวิธีการธรรมดา พูดง่ายง่ายคือ “guerilla warfare” ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับทหารทั่วโลก
ในสนามรบ ในสงครามใดๆ ที่มีความสับสนเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำและทหารธรรมดาเหมือนกัน นี่เป็น “หมอกของสงคราม” (Fog of War) ที่ คาร์ลฟอนคลอสวิทส์ (Carl Von Clausewitz) เขียนถึงเมื่อ 180 ปีที่ผ่านมา สงครามมีความสับสนมากยิ่งขึ้นเมื่อมันไม่ได้เป็นธรรมดา
ไม่ควรลืมว่าถ้าผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้โจมตีฐานทหารพรานก่อน แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องมีระเบียบวินัยสูง และจะต้องมีผู้นำที่มีคุณภาพในทุกระดับ - แต่เป็นสิ่งที่น่าเศร้าและเป็นลักษณะของสงครามทุกประเภทที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างแน่นอน - มากกว่านี้เมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่ได้แสดงตัวชัดเจน
ความสำคัญของเหตุการณ์ที่หนองจิก และการตอบสนองที่ตามมาด้วยในกระแสข่าวและบทวิจารณ์ก็คือว่า มีสงครามสกปรกในชายแดนใต้ และหลายกลุ่มยังคงปฏิเสธมัน
โปรดให้นักข่าวที่เขียนว่า “หนองจิก น้ำผึ้งหยดเดียว” นั่งใน Humvee เพียงหนึ่งคืนกับทหาร ก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในชายแดนใต้และสงครามที่แปลก