xs
xsm
sm
md
lg

นร.ยะลาเข้าติวเข้มโครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” เสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - นักเรียน ม.6 ใน จ.ยะลา กว่า 3,000 คน เข้าติวเข้มความรู้มุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัยในโครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” ด้านกระทรวงศึกษาธิการเผยเตรียมนำหลักสูตร 2 ภาษา ไทย-มลายู บรรจุเข้าในหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย

วันนี้ (11 ม.ค.) ที่หอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอง เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลาเพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2555 สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 ศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาตอนปลาย จ.ยะลา พร้อมคณะครูและบุคคลากรทางการศึกษาร่วมให้การต้อนรับ สำหรับปีนี้มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่ จ.ยะลา เข้าร่วมโครงการรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน

จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การจัดการเรียนรู้การเรียนการสอน ของเด็กนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้มีคุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้นและยังช่วยเติมเต็มพื้นฐานความรู้ ทำให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและสถานศึกษาอื่นเพิ่มมากขึ้น

โดย นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอง เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า โครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กๆ นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับนักเรียนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยได้จัดทีมวิทยากรจากส่วนกลางจากกรุงเทพฯ มาติวเข้มความรู้พื้นฐานเพื่อเตรียมสอบเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

สำหรับในพื้นที่เด็กนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องของการใช้ภาษา ทางกระทรวงศึกษาธิการจะมีการนำหลักสูตร 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษามลายู บรรจุเข้าในหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อให้เด็กนักเรียนเกิดความคุ้นเคย และค่อยๆ ปรับตัวด้านการใช้ภาษาไทย ส่วนเด็กที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ทางการศึกษา ก็จะมีการจัดหาทุนการศึกษาให้ได้รับอย่างต่อเนื่องทุกระดับชั้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพครูให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการวางแนวทางไว้ว่า ทำอย่างไรให้ครูสอนตามวุฒิ และสอนตรงตามสาขาอาชีพ มีการจัดการอบรมพัฒนาพร้อมนำสื่อการสอนมาใช้ควบคู่เพื่อให้กระบวนการพัฒนาศักยภาพครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้มีเทคนิคในกระบวนการคิดและสนุกสนานกับการเรียนการสอน



กำลังโหลดความคิดเห็น