ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช สงขลา นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อมอบนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน พร้อมมอบแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำของรัฐบาล แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ทั้งนี้ มี นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกปีแต่ปัญหาจะแตกต่างจากภาคอื่นๆ เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบจากน้ำหลาก ดินถล่ม ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลแรงและเร็ว รวมถึงปัญหาความเสื่อมโทรม การบุกรุกป่า ต้นน้ำ ป่าพรุ และป่าชายเลน การลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย การตื้นเขินของทะเลสาบ และการกัดเซาะที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ พื้นที่ทะเลสาบสงขลาโดยรอบก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยกรมทรัพยากรน้ำมีโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูอยู่หลายโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือน้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูคลองสายยู ตำบลบางเขียด ชะแล้ รำแดง ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ด้วยการขุดลอก เพื่อขยายหน้าตัดลำน้ำ ปรับปรุงคันคลองทั้ง 2 ฝั่งเป็นทางสัญจรกว้าง 4 เมตร ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ และก่อสร้างงานป้องกันการกัดเซาะ โดยมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 2,000 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 5,000 ไร่
อีกหนึ่งโครงการที่จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยโดยช่วยระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเป็นต้นทุนในฤดูแล้ง คือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำคลองเต่า เนื่องจากคลองเต่าช่วงที่ไหลผ่านตำบลโคกชะงาย มีปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง ทำให้ที่ดินและทรัพย์สินของราษฎรที่อยู่ติดลำคลองได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งดินที่ถูกกัดเซาะเป็นต้นเหตุของตะกอนทำให้คลองตื้นเขิน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จำนวน 1,135 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ประมาณ 1,510 ไร่