xs
xsm
sm
md
lg

“คลองละวาน” พลิกภัยพิบัติ จัดการปัญหาน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลองละวาน
สภาพน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณลุ่มน้ำคลองละวาน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากต่อเนื่องมาหลายปี ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร นับรวมมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไม่ต่ำกว่าปีละร้อยล้านบาท แต่ยังเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่กันเอง

ต้นเหตุเกิดจากภัยธรรมชาติ ยากที่จะหาทางออก...

ประพันธ์ แจ้งเอี่ยม หัวหน้าภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดอุตรดิตถ์:ท่าเหนือสู่เมืองน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เล่าถึงสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำคลองละวานว่า คลองละวานเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการทำเกษตรกรรมของชุมชนที่มีลำน้ำไหลผ่านพื้นที่ 9 ตำบลด้วยกัน

ความสำคัญของลำคลองละวานนี้ นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านแล้ว แต่ก็ยังก่อให้เกิดปัญหาอยู่ดี ซึ่งในฤดูแล้งเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ส่วนในฤดูฝนที่เป็นช่วงเพาะปลูกจะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากใน 6 ตำบล แถมยังเป็นสภาพน้ำท่วมขังยาวนาน 5-6 เดือน เป็นเหตุให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นนาข้าวกว่า 20,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย

จากการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ผ่านมา พบว่าอยู่ในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ แต่ละตำบล แต่ละพื้นที่ต่างหาวิธีจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ทั้งการปิดกั้นประตูน้ำ การปล่อยน้ำสู่พื้นที่อื่น หรือการสร้างคันกั้นน้ำไม่ให้ไหลท่วมเข้าพื้นที่ตนเอง ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในชุมชนตามมา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นขาดการเชื่อมโยงการจัดการปัญหาภาพรวมอย่างเป็นระบบ ขาดการมองปัญหาพื้นที่ในภาพใหญ่ร่วมกัน ทำให้ไม่มีการเชื่อมต่อแนวทางแก้ไขปัญหาเข้าด้วยกัน ทั้งที่ปัญหาเรื่องทรัพยากรและภัยธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงจะสามารถแก้ไขหรือบรรเทาลงได้”

หลังจากการชักชวนแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมแล้ว ได้เปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา รับฟังความคิดเห็น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ต่างมองเห็นปัญหาของกันและกัน นำไปสู่ความร่วมมือที่จริงจัง โดยมีการประชุมหารือ ร่วมสำรวจเส้นทางการไหลของน้ำ การวางแผนจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมที่ยอมรับของทุกฝ่าย และจากการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการรวมตัวเป็น “เครือข่ายพัฒนาลุ่มน้ำตรอน-พิชัย” อย่างที่เห็น

“จากเดิมที่แกนนำตำบล ส่วนใหญ่จะดูแลและแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ตนเอง แต่จากการทำงานร่วมกัน ได้มีการลงไปดูสภาพพื้นที่ของตำบลอื่นๆ ในลุ่มน้ำคลองละวานด้วยกัน ทำให้เห็นปัญหา ก่อให้เกิดการจัดการ ความร่วมมือกันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาแทน”

นายประพันธ์ ให้ความคิดเห็นถึงปัญหาการเปิดประตูระบายน้ำช่วงรอยต่อตำบลไร่อ้อยและตำบลในเมือง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ซึ่งเกษตรกรไม่ยอมให้มีการเปิดประตูระบายน้ำ ด้วยกลัวน้ำจะทะลักเข้าที่นา เบื้องต้นจึงได้การขุดลอกคลองเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลผ่านสะดวกขึ้น จะได้ไม่ท่วมขัง แต่กลับส่งผลกระทบต่อตำบลบ้านหม้อที่อยู่ข้างล่าง กลายเป็นพื้นที่รับน้ำแทน

ด้วยเพราะมวลน้ำที่ไหลเร็วเกินไป ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันวิเคราะห์ หาทางแก้ไขทั้งระบบ เพื่อไม่ทำให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเกิดผลกระทบ จากการศึกษาและทำงานร่วมกันภายในท้องถิ่น ทำให้ได้แนวทางการพัฒนาเพื่อลดผลกระทบ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณคลองละวานใน 4 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบที่ 1 การลดผลกระทบช่วงระหว่างน้ำท่วม ได้แก่ การหาอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน อย่างการเพาะเห็ดฟางเพื่อให้มีรายได้ทดแทน และลดการเพาะปลูกในพื้นที่ที่น้ำไหลเข้าท่วมทุกปี เรียกว่าเป็นการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องเผชิญ

นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการ “หนึ่งไร่ หนึ่งแสน” เพิ่มศักยภาพการเพาะปลูก ช่วยหาวิธีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อชดเชยพื้นที่ถูกน้ำท่วมให้ชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านคนหนึ่งมีพื้นที่นา 10 ไร่ แต่ถูกน้ำท่วมทุกปีประมาณ 5 ไร่ ดังนั้นทำอย่างไรให้ 5 ไร่ที่เหลือ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยพื้นที่ 5 ไร่ที่สูญเสียไป เรียกว่าเป็นการนำความรู้ทางเกษตรเข้าช่วยอีกทางเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม

รูปแบบที่ 2 การประสานงานระหว่างตำบล โดยการใช้เครื่องมือสื่อสารระหว่างรอยต่อตำบล เนื่องจากน้ำที่ไหลท่วมจะเกิดขึ้นทุกปี จึงควรมีการทำระบบการเฝ้าระวังที่เป็นการแจ้งเตือน เพื่อให้มีการเตรียมรับมือล่วงหน้า โดยให้ทุกตำบลช่วยกัน หากพื้นที่ไหนมีน้ำไหลบ่ามาแล้ว ให้สื่อสารแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ถัดไป
รูปแบบที่ 3
การผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้วิธีการลงนามร่วมในบันทึกข้อตกลงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดการดำเนินการ อย่างการสร้างทางน้ำ

และรูปแบบที่ 4 คือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบริเวณพื้นที่คลองละวาน เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าบริเวณพื้นที่คลองละวาน เพื่อให้ดินช่วยอุ้มน้ำ ลดปริมาณน้ำที่ไหลบ่า รวมไปถึงการสร้างฝ่ายชะลอน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลที่ได้หลังจากที่ชาวบ้านได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้ว่าช่วงปีหลังๆ มานี้ ทั้งระดับน้ำและพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมลดลง รวมไปถึงความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้นในทุกปี แต่สำหรับปีนี้ที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก ปริมาณน้ำมาก ยอมรับว่าส่งผลให้พื้นที่คลองละวานได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน แต่หากที่ผ่านมาไม่มีวางระบบจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ก่อน เชื่อว่าความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้คงหนักมากกว่านี้

ด้าน ม้วน อินถา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำอ่าง (อบต.น้ำอ่าง) กล่าวว่า ตำบลน้ำอ่างแม้ไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ต้นน้ำ แต่กลับประสบปัญหาน้ำไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง

ซึ่งจากการเข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาลุ่มน้ำตรอน-พิชัย ทำให้เห็นสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองละวานทั้งหมด รวมถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นในตำบลด้านล่าง การหารือร่วมกันมีความเห็นว่า ควรมีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ ต.น้ำอ่าง ไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ ต.น้ำอ่าง ยังช่วยกักเก็บน้ำลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้านล่างได้

ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอของบประมาณจากภาครัฐ รวมถึงการทำฝายและประตูระบายในแต่ละตำบลเพื่อชะลอการไหลของน้ำ ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเป็นประจำทุกปี

ทั้งหมดนี้ ยังเป็นเพียงเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่คลองละวาน ที่คนในพื้นที่ต้องร่วมใจผลักดันเพื่อให้เกิดการเดินหน้าในก้าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น