ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 3 องค์กรร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะแรกเปิดรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา ในพื้นที่เป้าหมาย50 โรงงาน
วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่โรงแรมสิงห์โกลเด้นเพลส อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้แทนจากหน่วยงานจาก 3 องค์กรประกอบด้วย รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายทวี แก้วมณี ผอ.ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดสงขลา และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราจำนวน 50 โรงงาน ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้อุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ
นายทวี แก้วมณี ผอ.ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือ ในโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการอันจะส่งผลต่อการพัฒนา โรงงานกุล่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับการพัฒนา สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ในตัวสินค้าโดยภาพรวมร้อยละ 10
โดยมีหน่วยงาน 2 องค์กรร่วม คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาเพื่อตกลงว่าจะร่วมมือกันดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ให้สำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้ภายในเดือนมีนาคม 2555
ด้าน รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะกุล่มอุตสาหกรรมยางแผ่นดิบ น้ำยางข้น ผลิตภัณฑ์ยาง และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป แต่ผู้ประกอบการไทยเองยังประสบปัญหาการพัฒนากระบวนการผลิตให้ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูป ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียและต้นการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
“นอกจากนี้ ภาครัฐมีนโยบายเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในประเทศ และเพิ่มมูลค่าโดยการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.เจริญกล่าว และว่า
จากความสำคัญดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหน่วยงานที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบทบาทในการให้คำปรึกษา แนะนำโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรของอุตสาหกรรมให้มีความรู้การบริหารจัดการ การพัฒนากระบวนการผลิต และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางพาราให้มีในอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางพารา
ในระยะแรกได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา ในพื้นที่เป้าหมาย 50 โรงงาน เพื่อร่วมกิจกรรมแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางพารา กิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มสมาชิก การสัมมนาเพื่อการนำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต