ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา พัฒนาการเลี้ยงปลาทะเลระบบน้ำหมุนเวียน นำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถควบคุมโรคปลา
วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากในปัจจุบันสภาพแวดล้อมตามแหล่งน้ำต่างๆ ได้เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องจนได้ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ดังเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอ
นอกจากนี้ จากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในอนาคตทำให้การเลี้ยงปลาโดยเฉพาะการเลี้ยงในกระชังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงความตื่นตัวด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้การเลี้ยงปลาในระบบน้ำหมุนเวียนได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น
โดยระบบการเลี้ยงปลาแบบนี้มีจุดเด่นหลายประการ คือ สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้ด้วยความหนาแน่นสูง โดยอาจสูงถึง 100 กก./ลบ.ม.สัตว์น้ำที่เลี้ยงเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้อย เพราะสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมภายนอก รวมทั้งสิ้นเปลืองน้ำ และใช้พื้นที่น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน หรือการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบทางน้ำไหล และลดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม
สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ได้พัฒนาการเลี้ยงปลาทะเลระบบน้ำหมุนเวียน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถควบคุมโรคปลา ทั้งคุณภาพน้ำ ทั้งขี้ปลา ไม่ให้ออกสู่ภายนอก เพิ่มผลผลิต ปลาเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น เตรียมเสนอเป็นโครงการวิจัยต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2556-2560 เพื่อนำความรู้ที่ได้รับจากการผลงานวิจัย มาพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรต่อไป
นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตอนนี้การเลี้ยงปลาในกระชังมักจะพบปัญหา อย่างในเกาะยอ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วปลาตายกันเยอะทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้คิดค้นวิธีการเลี้ยงปลาแบบใหม่ คือการเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน โดยได้ทำการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนนี้ที่เราเลี้ยงทั้ง 4 บ่อ มีปลากะพงขาว 1 บ่อ และปลาหมอทะเล 3 บ่อ แต่ละบ่อมีปลาอยู่ประมาณ 700-800 ตัว
ขณะนี้สามารถรับประสิทธิภาพของระบบบำบัด สามารถบำบัดได้วันหนึ่ง 80 กก.ของปลาเป็ดที่เราให้ปลากิน ในส่วนผลผลิตทั้ง 4 บ่อ ซึ่งเราคาดว่าจะได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัม โดยเราประเมินอย่างน้อย บ่อละ 500 กก. ซึ่งปลาที่เราปล่อยลงไปเลี้ยงบ่อละประมาณ 600-700 ตัว ขณะนี้จากการตรวจสอบ พบว่าตัวหนึ่งน้ำหนัก 1 กก.ขึ้นไปทั้งนั้น ก็ประมาณ 2-3 ตัน
การเลี้ยงระบบนี้ เราพบว่า ปลาโตเร็วไม่ใช้พื้นที่มาก ตรงนี้พื้นที่แค่ 1 งาน แต่สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 2-3 ตัน อีกอย่างหนึ่งเราจะไปเลี้ยงที่ไหนก็ได้ เพราะเราไม่ได้ใช้น้ำมาก เอาน้ำเค็มเข้ามา แล้วเราก็วนเวียนเลี้ยงอยู่นั่น ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในทะเล เพราะขี้ปลา แอมโมเนีย เราก็เอาไปบำบัด เอาไปตกตะกอนแล้วเอาน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพราะฉะนั้นพลังงานในการสูบน้ำทะเลจากไกลๆ ก็ไม่มี เราใช้พลังงานเพียงแค่เอาปั้มมาสูบให้น้ำหมุนเวียนเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วเทคโนโลยีนี้ เราสามารถควบคุมโรคปลา ทั้งคุณภาพน้ำ ทั้งขี้ปลา ไม่ให้ออกสู่ภายนอก
สำหรับเกษตรกรหากจะทำการลงทุนทำระบบน้ำหมุนเวียน ลงทุนน้อยมาก บ่อผ้าใบลงทุนเพียงหมื่นเดียว ค่าโครงเหล็กอีกนิดหน่อย เกษตรกรถ้าเข้ามาดูแล้วก็สามารถนำไปใช้งานได้เลย เพราะว่าระบบบ่อระบบราง การสูบน้ำดีไซด์ใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด วัสดุต่างๆหาซื้อได้ง่าย