xs
xsm
sm
md
lg

ปัตตานีจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงใน จชต.พบผู้หญิงและเด็กเป็นเหยื่อเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จัดกิจกรรมรวมพลังผู้หญิงยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ เนื่องจากปัจจุบันพบผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มขึ้น

วันนี้ (25 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อนหญิง จึงร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 25 องค์กร จัดกิจกรรม “รวมพลังผู้หญิงยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ” ปีที่ 2 โดยมีกลุ่มพลังมวลชนสตรีและนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 800 คน เข้าร่วม

ทั้งนี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง จากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิต 4,700 กว่าคน มีหญิงหม้ายกว่า 2,171 คน เด็กกำพร้ากว่า 4,203 คน และมีผู้พิการอีกจำนวนมาก

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น มีการเดินรณรงค์ในตัวเมืองปัตตานีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร การกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ผู้หญิงเปลี่ยนโลกให้สันติ” ร่วมปาฐกถาโดยคุณวิสา เบ็ญจะมโน ประธานคณะกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณปัญญา เลิศไกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เวทีการอภิปราย หัวข้อ “พลังผู้หญิง พลังยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพชายแดนใต้” โดยพันเอก ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการ กองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คุณไพบูลย์ วราหไพฑูรย์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงฯ น.ส.นิสา กอและ ประธานเด็กและเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มเกี่ยวก้อย ดำเนินรายการโดย คุณธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อนหญิง ปิดงานด้วยการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “บ้านทุกบ้านต้องเป็นบ้านที่ปลอดภัย ถนนทุกสายต้องปลอดภัยจากภัยทางเพศ ชุมชนทุกชุมชนต้องเป็นเขตปลอดอาวุธ”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล 5 ข้อ คือ

1.รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน สตรี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ โดยเฉพาะในโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

2.รัฐบาลต้องส่งเสริมการรวมกลุ่ม สนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมพลังเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเด็ก เยาวชน สตรี และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบเพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง พึ่งตนเองและช่วยเหลือสังคมได้

3.รัฐบาลต้องให้การคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัวและชุมชน โดยการส่งเสริมเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับ เด็ก เยาวชน สตรี ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทุกกรณี

4.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและสตรีเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีโดยการลดหน่วยกองกำลังติดอาวุธ หรือการพกพาอาวุธในสถานศึกษา

5.รัฐบาลต้องสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเด็กและกองทุนผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน โดยให้ภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วมในการการวางแผน ติดตามประเมินผลร่วมกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น