ตรัง - จนท.ตรังสำรวจความเสียหายเหตุการณ์พายุถล่มและดินสไลด์ที่เกาะลิบง พบบ้านเสียหายหมดทั้งหลัง 3 หลัง และเสียหายบางส่วน 32 หลัง ชาวบ้านปักใจเชื่อเพราะมีการตัดไม้บนเขา จึงไม่มีสิ่งยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายลงมา พร้อมวอนเพิ่มเงินเยียวยา ชี้ 3 หมื่นบาทแค่ค่าขนส่งของมายังเกาะก็หมดแล้ว
วันที่ (17 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น.นายวิสิษฐ์ ตั้งปอง นายอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง และผู้นำชุมชน ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านหลังเขา และหมู่ที่ 5 บ้านบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุพัดถล่ม ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรพังเสียหายจำนวนมาก โดยเหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา
จากการสำรวจพบว่า มีบ้านเรือนในหมู่ที่ 4 บ้านหลังเขา ได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 13 หลัง เสียหายทั้งหลัง จำนวน 1 หลัง และรถจักรยานยนต์อีก จำนวน 4 คัน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกพื้นอยู่ติดริมชายหาด ส่วนในหมู่ที่ 5 บ้านบาตูปูเต๊ะ มีบ้านเรือนเสียหายบางส่วน จำนวน 18 หลัง เสียหายทั้งหลัง จำนวน 1 หลัง ส่วนหมู่ที่ 7 บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 1 หลัง และแพปลาอีก จำนวน 1 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีดินสไลด์ลงมาจากภูเขาพัดพาทั้งก้อนหินขนาดใหญ่และต้นไม้ลงมาปิดทับเส้นทางในหมู่บ้านระยะทาง 1,500 เมตรด้วย ขณะเดียวกัน น้ำยังได้ไหลเข้าท่วมโรงเรียนและบ้านเรือนจนส่งผลให้ข้าวของได้รับความเสียหายอีกด้วย
สำหรับข้อมูลจากการสำรวจตรวจสอบที่ได้ในครั้งนี้ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังจะรวบรวมส่งไปกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขออนุมัติเงินมาช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากหลังการสำรวจความเสียหายก็พบว่าต้นตอแห่งปัญหาดินสไลด์และน้ำท่วมหมู่บ้านนั้น เกิดมาจากมีชาวบ้านบางคนในพื้นที่ลักลอบตัดไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่บนภูเขาสูงเพื่อนำไปขายให้กับนายทุน จนทำให้เวลาเกิดฝนตกหนักหรือลมกรรโชกพัดแรงไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ยึดหน้าดินไว้จึงพังทลายลงมา แต่โชคดีว่าจุดที่เกิดดินสไลด์นั้นเป็นสวนยางพารา และไม่มีบ้านเรือนราษฎรอยู่ในละแวกดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น
ชาวบ้านยังบอกอีกว่า ในพื้นที่เกาะลิบง มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนและเจ้าหน้าที่ของเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงประจำอยู่ แต่กลับไม่มีใครทราบเรื่องการลักลอบตัดไม้ขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่เลย จนทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่า หากปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเช่นนี้ ต่อไปในอนาคตพื้นที่บนเกาะลิบงก็จะเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงจังในการปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง อย่าเพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่มาประจำบนเกาะแต่ไม่ได้ทำงาน เพราะจะยิ่งทำให้ผู้กระทำผิดได้ใจและไม่เกรงกลัวกฎหมายอีกต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากบ้านพังเสียหายทั้งหลัง จำนวน 30,000 บาท นั้น ชาวบ้านเห็นว่า แค่นำไปใช้จ่ายเป็นค่าขนวัสดุอุปกรณ์มาสร้างบ้านจากบนฝั่งก็หมดลงแล้ว จึงอยากจะให้มีการเพิ่มเงินเยียวยาช่วยเหลือให้มากกว่านี้