ตรัง - ผอ.ส่วนประสานบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนที่ 2 ระบุ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ให้ได้ผล ต้องดูไปทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งต้องประสานไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
วันนี้ (9 พ.ย.) นายสัมพันธ์ ดุลยาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนที่ 2 กล่าวว่า จังหวัดตรังตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกส่วนที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ลุ่มน้ำสาขา โดยสาขาที่ 1 คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบน ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสิเกา และอำเภอรัษฎา รวมทั้งอำเภอคลองท่อม และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
สาขาที่ 2 คือ ลุ่มน้ำตรัง ที่มีต้นกำเนิดมาจากอำเภอบางขัน และอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วไหลลงมาผ่านอำเภอรัษฎา วังวิเศษ ห้วยยอด นาโยง เมืองตรัง และกันตัง
ส่วนสาขาที่ 3 คือ ลุ่มน้ำปะเหลียน ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบรรทัด รอยต่อกับจังหวัดพัทลุง แล้วไหลลงมาผ่านอำเภอปะเหลียน ย่านตาขาว และกันตัง และสาขาที่ 4 คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตอนล่าง รอยต่อกับจังหวัดสตูล แล้วไหลลงมาผ่านอำเภอปะเหลียน ย่านตาขาว และกันตัง
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ส่วนประสานบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนที่ 2 จะดูไปทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มิใช่เกิดน้ำท่วมตรงไหนแล้วแก้ไขเฉพาะตรงนั้น แต่ต้องดูสภาพปัญหาโดยรวมว่าเกิดมาจากสาเหตุอะไร เช่น มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างไร โดยเฉพาะปรากฏการณ์ลานิญญ่า และเอลนิญโญ่
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัญหายังอยู่ในสภาพที่ไม่รุนแรงจนเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ เพียงแต่จะต้องร่วมกันดำเนินการให้ตรงจุด ตามความเห็นที่คณะกรรมการระดับจังหวัดกำหนดไว้ ซึ่งบางครั้งจะต้องประสานไปยังจังหวัดข้างเคียงด้วย เช่น จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล เนื่องจากลุ่มน้ำหลายสายไหลต่อเนื่องกันมาในหลายพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขตรงกับสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น
โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ในพื้นที่อำเภอนาโยง และอำเภอเมืองตรัง ช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากมีสภาพเป็นที่ราบต่ำ จึงรองรับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำตรัง และเทือกเขาบรรทัด ประกอบกับพบการบุกรุกทำลายป่าอย่างรุนแรงบริเวณต้นน้ำ ทำให้ไม่มีต้นไม้ไปช่วยการชะลอการไหลหลากของน้ำ
หนทางแก้ไขก็คือ การก่อสร้างฝายไปขวางกั้นทางน้ำเอาไว้ รวมทั้งการทำแก้มลิงไว้สำหรับการพักน้ำ หรือการขุดคลองเพื่อระบายน้ำลงไปสู่เส้นทางอื่น เพื่อให้น้ำในแม่น้ำตรังมีปริมาณเหลือน้อยที่สุดในยามน้ำหลาก และยังเป็นการช่วยลดความรุนแรงของน้ำ เพื่อมิให้ไหลบ่าไปยังพื้นที่ราบทั้ง 2 ฝั่ง
“นอกจากนี้ บางช่วงก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาอีกด้วย จนทำให้เกิดสภาพน้ำไหลเอ่อท่วมคลองย่อยในตัวเมืองตรัง เช่น คลองนางน้อย คลองน้ำเจ็ด คลองยน หรือคลองห้วยยาง ซึ่งจะต้องรีบเร่งทำการขุดลอกเพื่อช่วยระบายน้ำให้ดีที่สุด” นายสัมพันธ์ กล่าว