xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านลั่น! ไม่เอา “อ่างเก็บน้ำคลองช้าง” หวั่นเป็นแหล่งปล่อยน้ำมาซ้ำในฤดูน้ำหลาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - คณะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดประชุมย่อยโครงการวิเคราะห์ผลกระทบการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง จ.สตูล แจงเพื่อกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านทำการเกษตรและป้องกันน้ำท่วม ในขณะที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ยันไม่มั่นใจระบบจัดการน้ำและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เกรงจะเป็นการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาท่วมบ้านเหมือนที่แล้วมา ย้ำ! ต้องการเพียงการแก้ปัญหารับมือน้ำท่วมเท่านั้น

วันนี้ (18 ต.ค.) นายมนูญ แสงเพลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พร้อม ดร.วิวัฒน์ อังศุสิงห์ ผู้เชียวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์ จัดประชุมย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำคลองช้าง จังหวัดสตูล เนื่องด้วยบริษัท เอ กรุ๊ป ซัลแคนท์ จำกัด, บริษัท ร้อจ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอป เมนท์ คอนซัลแคนท์ เป็นผู้ศึกษาโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองช้าง จังหวัดสตูล โดยเพื่อชี้แจงแนวทางเลือกการพัฒนาโครงการ รูปลักษณ์โครงการเบื้องต้น และแนวทางขั้นตอนการชดเชยทรัพย์สิน พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาดังกล่าว โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอเมืองสตูล นายจอมพร เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการชลประทานสตูล เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 20 กว่า คนเข้ารับฟัง ที่ห้องประชุมชั้น 2 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล

สำหรับการพบปะพูดคุยในครั้งนี้ ซึ่งมีการชี้แจงข้อมูลการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง จังหวัดสตูล ในพื้นที่ ม.2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ในพื้นที่ 1,700 ไร่ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 36 .00 ลูกบาศก์เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำให้แก่พื้นที่พืชเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่อำเภอควนโดน และอำเภอเมืองสตูล รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอควนกาหลง จ.สตูล

ด้าน นายมนูญ แสงเพลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวบ้านรับฟังและไม่เห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำตามแบบที่เสนอไป ทางคณะมีการทำที่กักเก็บน้ำอีก 2 รูปแบบ คือ แบบที่ก่อสร้างเป็นฝายขั้นบันได และประสิทธิ์ภาพระบบชลประทาน โดยคลองดุสนมีศักยภาพในการสร้างฝาย 11 แห่ง ซึ่งความจุในการกักเก็บน้ำได้ ถึง 1.20 ล้านลูกบาศก์เมตร และทางเลือกที่ 3 คือ การก่อสร้างคลองส่งน้ำสายซอยแยกจากคลองสายใหญ่โครงการดุสน และสระพักน้ำเป็นระยะ

โดยหากเลือกทางที่ 3 ก็จะทำการขุดสระเก็บน้ำขนาด 200X200 ตาราเมตร จำนวน 24 แห่ง ในพื้นที่ที่ขุดสระ 600 ไร่ ซึ่งความจุของสระสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และนี่เป็น 3 ทางให้ชาวบ้านเลือก และเป็นการแก้ปัญหาเกิดการภัยน้ำท่วมได้ และไม่หนักอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในพื้นที่ของจังหวัดสตูล

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมือง ที่ออกมาร่วมรับฟังส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นว่า ต้องการเพียงให้ทางจังหวัดแก้ปัญหา และรับมือภัยน้ำท่วมในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังฝากให้ทางคณะทำงานอ่างเก็บน้ำคลองช้าง คำนึงถึงความสูญเสียภายหน้า หากสร้างอ่างกักเก็บน้ำนี้ขึ้นมาแล้ว ฝนที่ตกและน้ำป่าไหลหลากเพิ่มขึ้นทุกปี อ่างเหล่านี้จะกักเก็บน้ำได้ไหม และจะกลายเป็นเหมือนกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากการที่เขื่อนต้องปล่อยน้ำออกมา หากเก็บไว้ก็จะเกิดความเสี่ยงทำให้เขื่อน หรืออ่างพังลงมา ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนัก ก็คือ ชาวบ้าน

ทั้งนี้ การประชุมย่อยครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำคลองช้าง จังหวัดสตูล จะมีจัดขึ้นอีกในพื้นที่อำเภอควนโดน ซึ่งเป็นหนึ่งพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้งส่วนได้ส่วนเสียจากน้ำที่สร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง โดยจะมีการประชุมอธิบายแก่ประชาชนได้รับรู้ขึ้นต่อไป
ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

กำลังโหลดความคิดเห็น