xs
xsm
sm
md
lg

สภารับเรื่องขอให้เลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” 3 จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์ทนายมุสลิมยก 5 เหตุผล ยื่นนายกฯ ขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำนักเลขาสภาผู้แทนรับเรื่อง พร้อมแจ้งประธาน-วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ดำเนินการต่อไป

วานนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งหนังสือ ถึงนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนังสือเลขที่ สผ 0001/1094 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 แจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้นำความในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้องค์กรซึ่งมีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้มีการทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ในครั้งที่ 26 และได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายไปทางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักการใช้กฎหมายโดยยึดหลักนิติกรรมและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อทราบแล้ว

โดยหนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุชื่อเจ้าของเรื่อง คือนางสาวเรณุมาศ รักษาแก้ว นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้พิจารณาการประกาศให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินประเภทร้ายแรง ครั้งที่ 26 ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งสำเนาถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เนื้อหาในจดหมายผนึกฉบับนี้ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 มีเหตุรุนแรงในจังหวัดชยแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 12,167 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 4,771 ราย เป็นตำรวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166 ราย บาดเจ็บรวม 8,512 คน แสดงว่ายังมีเหตุรุนแรงอยู่เรื่อยมา แม้มีการบังคับใช้พระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี้ยังทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาในครั้งต่อไป โดยมีเหตุผลและข้อเสนอแนะดังนี้

1.ประเทศไทยยังไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของสหประชาชาติที่ไทยเป็นประเทศภาคี ได้ทำข้อเสนอแนะมาตั้งแต่ปี 2548

2.ให้ปรับปรุงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ไม่ว่าการนำตัวบุคคลมาศาล ให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยมได้ ให้มีการตรวจร่างกายก่อนและหลังการควบคุมตัว เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3.ขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และให้ยกเลิกมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยกเว้นอำนาจของศาลปกครอง

4. แก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง คณะรัฐมนตรีต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายใน 7 วัน เพื่อเปิดโอกาสฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของฝ่ายบริหาร โดยผ่านการอภิปรายกันอย่างเปิดเผยภายใต้ระบบรัฐสภา

5.สถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบมากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกดำเนินการคดีอาญาต่อเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับการลงโทษผู้กระทำความผิด เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไร้ประสิทธิภาพ และขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ควบคุมตัวบุคคลเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ

ดังนั้น จึงขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาในครั้งต่อไป โดยจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ลงนามโดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

(รายงานโดย ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้)
กำลังโหลดความคิดเห็น