xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.แนะพวกพังคันกั้นน้ำเสียสละอดทนเหมือนคน ตจว.ชี้ใช้ พ.ร.ก.มีแต่จะทะเลาะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (แฟ้มภาพ)
ผู้บัญชาการทหารบก รับบางหน่วยขีดความสามารถช่วยเหลือจำกัด สั่งทหารบูรณาการร่วมฝ่ายการเมือง แนะให้ชุมชนเอี่ยวด้วยจะลดกระทบกระทั่งได้ ยันช่วยเต็มที่แล้ว เผย หลายจังหวัดเริ่มดีขึ้น คาด ธ.ค.จบ แนะพวกพังคันกั้นน้ำอดทนเหมือนชาวต่างจังหวัดบ้าง ยันเบี่ยงน้ำไปท่วมอีกฝั่งก็ไม่ได้ทำให้น้ำลด ชี้ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้เกิดแต่ทะเลาะกันไปเรื่อย กลับสู่วัฏจักรเดิม สอนควรให้ประชาชนรู้จักเสียสละ

วันนี้ (2 พ.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่มีบางหน่วยงานใส่เกียร์ว่างไม่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่า ไม่ใช่เกียร์ว่าง หน่วยราชการอื่นๆ อยากจะทำหน้าที่ให้เต็มที่ แต่ขีดความสามารถไม่พอเพียง เช่น ขาดยานพาหนะ เรือ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ ที่ผ่านมาเราพบแต่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย น้ำไม่มากนัก แต่ครั้งนี้น้ำท่วมยาวนาน และเป็นทุกพื้นที่ ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหาแต่เหลือเฉพาะยุทโธปกรณ์ของทหารยานพาหนะที่มีความสูงสามารถวิ่งเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งกองทัพได้ให้นโยบายไปแล้ว เราไม่สามารถทำงานทุกงาน จึงให้ทหารทุกหน่วยเข้าไปบูรณาการกับทุกส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นการเมือง ส.ก. ส.ข.หรือ กทม.ที่ทำงานในพื้นที่ ช่วยแบ่งเป็นชุดย่อยๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้อพยพ มิฉะนั้นจะทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

“วันนี้ได้ทดลองทำในเขตวัฒนา และ เขตสายไหม ประเด็นสำคัญ คือ จะต้องสร้างความเข้มแข็งกับทุกส่วนราชการ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าไม่ให้ชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องจะมีปัญหาตลอด เหมือนกับเขามองว่าส่วนหนึ่งเขาเสีย ส่วนหนึ่งเขาได้ แต่ถ้าจับทุกส่วนมาแก้ไขปัญหาในภาพรวมจะลดภาระการกระทบกระทั่งได้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องใช้กฎหมายอะไรมากมาย ปัญหาสำคัญคือ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน และอดทน ต้องเห็นใจทหารเองก็อดทน เมื่อเข้าไปในพื้นที่ประชาชนก็เครียดพูดจาไม่ค่อยดี เราก็เห็นใจเพราะเขาเครียดแต่ขอให้เข้าใจว่าทหารพยายามเข้าไปช่วยเต็มที่แล้ว ซึ่งจริงๆ บางเรื่องไม่ใช่งานของเราในบางเรื่อง แต่เราพยายามทำให้ทุกเรื่อง และพยายามแก้ไขให้ไปทั่วถึง เพราะเกรงว่าหากยาวนานไปกว่านี้ชุมชนที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้จะเกิดความเครียด สิ่งที่พยายามแก้ไข คือ การสัญจรไปมา โดยให้กรมการขนส่งทหารบกวางแผนจัดยานพนะตามจุดต่างๆ ที่รถปกติวิ่งไม่ได้ในพื้นที่ที่น้ำท่วม โดยตั้งเป็นศูนย์ขนส่งของทัพบก และระดมรถของทุกส่วนราชการที่สามารถเข้ามาสนับสนุน โดยขอทาง ศปภ.ประสานงานกับทาง ขสมก.จัดรถมาร่วมในพื้นที่ที่เขาสามารถวิ่งได้ โดยรถทหารจะไปส่งขึ้นรถที่ ขสมก.โดยจะใช้เส้นหลักๆ ที่มีปัญหาน้ำท่วม”ผบ.ทบ.กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากที่ฟัง ศปภ.ประเมิน ประมาณเดือน พ.ย.ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น เพราะตอนนี้หลายอำเภอ หลายจังหวัดดีขึ้น อย่างพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา บางถนนก็ใช้งานได้แล้ว ส่วนจะให้ปกติทั้งหมดคงจะประมาณเดือน ธ.ค.ถ้าบริเวณไหนระบายน้ำได้มากก็จะลดลงได้เรื่อยๆ คงจะต้องใช้ระยะเวลาเพราะน้ำไม่ได้ไหลเร็ว ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำให้การระบายเป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้หรือไม่ แต่ถ้ายังมีการพังทลายคันกั้นน้ำ หรือไม่ยอมให้น้ำผ่านก็จะเป็นปัญหาจะทำให้น้ำเอ่อขังนานขึ้น และสร้างความเดือดร้อน ตนเห็นใจพี่น้องชาว กทม. แต่จะต้องนึกถึง จ.พระนครศรีอยูธยา และ จ.ลพบุรี ที่น้ำท่วมประมาณ 1-2 เดือน แต่ในพื้นที่ กทม.แค่ 2 อาทิตย์ ก็จะต้องนึกถึงคนอื่น เพราะเขาก็อดทนเหมือนกับเรา ถ้าเราอดทนอีกนิด น้ำจำนวนนี้จะผ่านเราไป ส่วนจะผ่านไปอย่างไร และไม่ให้เสียหายเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะน้ำเยอะ อยากให้นึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง แม้ทหารยังนึกถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง เพราะบ้านทหารเองก็น้ำท่วม พลทหารบ้านอยู่ต่างจังหวัดก็ยังถูกน้ำท่วมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จ.ศรีสะเกษ 20 กว่าอำเภอก็น้ำท่วม แต่ก็มาช่วยใน กทม. ถ้ามาต่อต้านกัน ไม่ยอมกัน จะไปสู่จุดสุดท้ายคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้อย่ามาโทษใคร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่คลองสามวาที่มีการพยายามทำลายพนังกั้นน้ำ ตนไม่ได้ตำหนิใคร ซึ่งเขาเข้าใจว่าถ้ากั้นน้ำตรงนี้ได้ และระดับน้ำจะลดลง และน้ำจะท่วมน้อยลง แต่เบี่ยงน้ำไปแล้วก็ลดลงไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็ยังท่วมอยู่เหมือนเดิม แต่ความคุ้มค่าการที่น้ำเข้ามาในพื้นที่ กทม.มากๆ จะทำให้น้ำท่วมทั้ง 50 เขต หรือเข้าไปในนิคมบางชันอาจจะทำให้หนักกว่าเดิม ดังนั้นจะต้องดูว่า จะดูแลกันอย่างไร คิดว่า ฝ่ายการเมืองคงจะดำเนินการ ตนไม่อยากไปก้าวก่าย ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น การใช้กฎหมายมีอย่างเดียว คือ การบังคับใช้ว่า ทำอย่างไรไม่ให้คนทำลายพนังกั้นน้ำ คือ การเอากำลังไปต่อสู้กับประชาชน ยกตัวอย่างเมื่อเดือน เม.ย. พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ให้ประชาชนออกมาชุมนุมในพื้นที่ที่กำหนดก็จำเป็นจะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เช่นเดียวกันต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการห้ามประชาชนข้ามารื้อคันกั้นน้ำ ซึ่งการเผชิญหน้ากันจะต้องสู้กันอย่างเมื่อวันก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดันกับประชาชน สรุปว่าชาวบ้านก็ดันแนวทะลุ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำรุนแรงไม่ได้ กฎหมายปกติกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ต่างกัน การขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะต้องรับผิดชอบก็จะต้องเอากฎหมายปกติ ถ้าใช้คนไม่ได้ก็จะต้องมีกระบี่กระบองไปสู้กัน หรือใช้มาตรการป้องกัน หรือ มาตรการการปราบจลาจลในทำนองนั้น โดยตั้งแนวเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามา แล้วท้ายที่สุดก็จะตีกัน ก็จะกลับไปเหมือนวงรอบเก่า เพราะตัวอย่างมีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“ไม่ใช่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีประโยชน์ มันก็มีประโยชน์ แต่ถ้าใช้กันจะทำให้ทะเลาะเบาะแว้งไปเรื่อยๆ ปัญหาคือแล้วเราจะอยู่กันด้วยการใช้กฎหมายให้มันแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนหาทางออกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถูกสั่งมา ประเทศไทยจะอยู่กันแบบนี้หรือเปล่า ผมไม่เข้าใจ สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องให้ความรู้กับประชาชนให้รู้จักเสียสละ รู้จักให้ รู้จักรับ และรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบประเทศไทย ถ้าอยู่กันด้วยกันกฎหมายคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ จากน้ำท่วมเมื่อจบแล้วก็คงตีกันเรื่องอื่นก็จะต้องมาบังคับใช้กฎหมาย อยากถามว่า วันนี้ ประชาชนยอมรับกฎหมายเท่าไหร่ อยากถามว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่ มันก็ผิดกันทั้งหมดจะเอาจับติดคุกให้หมด ที่ทำลายพนังคันกั้นน้ำมีรูปอยู่แล้วไปจับมาดำเนินคดี สิ่งนี้ทำได้หรือไม่ ก็ทำไม่ได้ ถ้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็ถูกบังคับให้ต้องทำท้ายที่สุดก็จะต้องตีกับประชาชน และจะได้อะไรมา แต่ผมคิดว่า ไม่ได้ เมื่อติดคุกก็จะต้องมีการประกันตัวสถานการณ์ก็จะกลับไปวงรอบเก่า” ผบ.ทบ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น