xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันพระปกเกล้าแนะดึง ปชช.เข้าร่วมจัดการท้องถิ่น แก้ปัญหาคดีหอยแครงอ่าวปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - สถาบันพระปกเกล้าเสนอผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติรอบอ่าวปัตตานี แนะรัฐบูรณาการกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากร พร้อมดึงชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย

วานนี้ (10 ต.ค.) ที่ห้องประชุม 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดประชุมชี้แจงรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการปัญหาความขัดแย้งสิ่งแวดล้อม กรณีปัญหากลุ่มประมงพื้นบ้านกับกลุ่มผู้เลี้ยงหอยในพื้นที่อ่าวปัตตานี โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี คณะทำงานโครงการวิจัย และตัวแทนภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงหอยแครงเข้าร่วมรับฟังและร่วมการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม

ส่วนบทสรุปและข้อเสนอแนะนั้น หลังจากจัดเวทีประชาคม 7 เวที ของชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ได้มี 4 ข้อเสนอแนะ ไว้เป็นแนวทางของการแก้ไขปัญหา คือ ข้อเสนอแนะที่ 1 คือ การจำกัดความคำว่า “อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวสาธารณะ” เพราะจากการทำเวทีประชาคม ชาวบ้านเข้าใจมาโดยตลอดว่าอ่าวปัตตานีเป็นอ่าวสาธารณะทุกคนเป็นเจ้าของ และไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยตรง ข้อเสนอแนะที่ 2 เรื่องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทเสริมแรงในพื้นที่ชุมชน เช่น เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้องกับอ่าวปัตตานี

ข้อเสนอแนะที่ 3 ควรส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน โดยเฉพาะองค์กรชุมชนในท้องถิ่นเอง เช่น กลุ่มประมงพื้นบ้านในตำบลต่างๆ บริเวณอ่าวปัตตานี องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ซึ่งนับได้ว่ากลุ่มคนและองค์กรเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบและสถาบันภายในของชุมชุนประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงหอยแครง และข้อเสนอแนะที่ 4 คือ การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิและจารีตท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรทางทะเล

ทั้งนี้ จากการทำเวทีทั้ง 7 เวที พบว่าภาคประชาชนต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง เห็นได้จากการสะท้อนความคิดเห็นในทุกเวที เพราะการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลโดยรัฐฝ่ายเดียวนั้น อาจจะเกิดปัญหาการขาดความต่อเนื่องทางด้านนโยบาย

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การประชุมชี้แจงรายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ ของสถาบันพระปกเกล้า ในการเข้ามาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงในอ่าวปัตตานี ได้มีตัวแทนจากทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันให้ความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งต่างฝ่ายต่างเสนอแนวคิดของตัวเอง จึงยากในการที่จะหาข้อยุติร่วมกัน แม้ผลสรุปประชาชนส่วนใหญ่ในรอบอ่าวปัตตานีต่างไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้มีการเลี้ยงหอยในเชิงพาณิชย์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ทำประมงเป็นอาชีพ

แต่อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมส่วนใหญ่กลับเห็นพ้องกันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้ใครคนใดคนหนึ่งเลี้ยงหอยในอ่าวปัตตานี และให้ทางราชการทุกฝ่ายร่วมกันทำแผนบูรณาการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอ่าวปัตตานีทั้งระบบ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้านให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิตปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น