ปัตตานี - ประมงพื้นบ้านลากข้างปัตตานี ประท้วงปิดปากอ่าวทางเข้าออกแม่น้ำปัตตานี พร้อมได้ยื่นข้อเรียนร้องจำนวน 5 ข้อ เพื่อเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ทำประมงลากข้างในเขตพื้นที่ต้องห้าม เผยต้องเสียเงินใต้โต๊ะในการวิ่งเต้นทางคดี
วันนี้ (29 ก.ย.) ที่บริเวณศูนย์บริหารประมงทะเลปัตตานี ได้มีกลุ่มประมงลากข้างได้รวมกันประท้วงปิดปากทางเข้าออกแม่น้ำปัตตานี เพื่อกดดันให้มีการเปิดพื้นที่ทำประมงลากข้างในเขตพื้นที่ต้องห้าม เป็นเหตุให้เรือไม่สามารถสัญจรได้ โดยได้มีการเรียกร้อง 5 ข้อ ทันที ดังนี้ 1.ให้มีการย้ายเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารประมงทะเล โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 2.เพื่อให้มีการปล่อยผู้ต้องหาชาวประมงลากข้างพร้อมเรือ ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์จับกุม พร้อมเรือลากข้างที่ผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
3.ชดเชยความเสียหายกรณีเรือประมงถูกเจ้าหน้าที่เชี่ยวชนในระหว่างไล่ล่าจับกุมทำให้เรือได้รับความเสียหายจมน้ำทะเล 4.ให้มีการเปิดพื้นที่ทำประมงลากข้างในพื้นที่ห้ามทำประมงในเขต 5,400 ตารางกิโลเมตร หรือ 3 ไมล์ทะเล 5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเจรจาเองเท่านั้น โดยขมขู่ว่าถ้าทางจังหวัดไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ชาวประมงลากข้างจะขอปิดทางเข้าออกโดยไม่มีกำหนด
นายสุนันท์ ศิริมากุล ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงลากข้างนั้น ต้องยอมรับว่า บางข้อไม่สามารถสนองได้ เพราะต้องอาศัยการเห็นชอบของคณะกรรมการภาคี เพื่อให้มีการพิจารณาตามความถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพะการข้อทำประมงลากข้างในเขตพื้นที่ต้องห้ามทำประมงตาม พ.ร.บ.ประมงเมื่อปี พ.ศ.2551 กำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนลากที่ประกอบเรือยนต์ทำการประมงจับสัตว์น้ำ บางแห่งของจังหวัดปัตตานี โดยกำหนดพื้นที่ภายในเขตระยะ 5,400 ตารางกิโลเมตร หรือ 3 ไมล์ทะเล และได้มีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการเรียกร้องให้มีการย้ายเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารประมงทะเลปัตตานีที่เข้าไปจับกุมว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้น คงต้องมีการสอบสวน เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องจับกุมเพราะทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้มีเจตนาจะทำความเดือดร้อนให้ชาวประมงแต่อย่างใด
ด้าน นางสุภาพร คงเจริญ ได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เรือของตัวเองเคยถูกเจ้าหน้าที่จับในระหว่างทำประมงลากข้างในเขตพื้นที่ต้องห้าม เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.54 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยลูกชาย และหลานชายที่ทำหน้าที่ประมงบนเรือดังกล่าว และเมื่อได้ส่งเรื่องพร้อมทั้งผู้ต้องหาไปที่โรงพัก สภ.เมืองปัตตานี จึงได้รีบไปติดต่อทันทีที่โรงพัก ซึ่งเมื่อมาถึงที่โรงพักจึงได้รับคำแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานอัยการจังหวัด เพื่อไม่ให้มีการยึดตามกฎหมาย
ซึ่ง นางสุภาพร ยังกล่าวว่า การเดินเรื่องในครั้งนี้ต้องยอมเสียเงินใต้โต๊ะเป็นค่าวิ่งเต้น เป็นเงินสด 3 หมื่นบาท ให้กับเจ้าหน้าบางคน ก่อนที่จะมีการเสียค่าปรับที่ศาลผู้ต้องหารายละ 9 พันบาท ต่อราย ในครั้งนี้มีผู้ต้องหา 2 คน จึงต้องเสียค่าปรับประมาณ 18,000 บาท จึงสามารถรับตัวผู้ต้องหาเป็นอิสระ และหลังจากนั้นก็ได้แอบทำประมงต่อไป เพราะถือเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ถึงแม้มันต้องยอมเสียเงินใต้โต๊ะก็ตาม จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องเหล่านี้ด้วย