กระบี่ - จังหวัดกระบี่ ร่วมกับมูลนิธิเอ็นไลฟ สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเตรียมจัดการแข่งขันเรือซีคยัค ระหว่าง 28-30 ตุลาคม ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เวลา 10.30 น.วันนี้ (7 ต.ค.) ณ สวนสาธารณธารา จ.กระบี่ นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พลเรือเอก นิพนธ์ จักษุดุล นายกสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย นายวิเชียร พงศธร รองประธานกรรมการมูลนิธิเอ็นไลฟ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดการแข่งขันซีคยัคนานาชาติ กระบี่ เอ็นไลฟ 2011 และกิจกรรมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับมูลนิธิเอ็นไลฟ และสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค.54
นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ มูลนิธิเอ็นไลฟ สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย และชาวจังหวัดกระบี่ทุกภาคส่วน จัดการแข่งขันซีคยัคนานาชาติ กระบี่ เอ็นไลฟ 2011 ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม นี้ ที่จังหวัดกระบี่
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ได้ตระหนักและมีจิตสำนึกในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และชุมชนท้องถิ่นทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและเป็นเครือข่ายในการสร้างความแข็งแรง และความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสร้างมูลค่าของการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับมาอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน
การแข่งขัน “ซีคยัคนานาชาติ กระบี่ เอ็นไลฟ 2011” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “รักกระบี่ รักษ์ธรรมชาติ” โดยความร่วมมือระหว่าง จังหวัดกระบี่ มูลนิธิเอ็นไลฟ และสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยกำหนดจะจัดเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 นี้เป็นปีแรก ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 54
การแข่งขัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทมืออาชีพนานาชาติ ประเภทเยาวชนทั่วไป และประเภทนันทนาการ (ท่องเที่ยว) โดยประเภทการแข่งขันมืออาชีพนานาชาติ เป็นเรือประเภทเซิฟสกี ระยะทาง 22 กิโลเมตร ประเภทเยาวชนทั่วไป เป็นเรือประเภทซีคยัค แบ่งเป็นประเภทฝีพายเดี่ยวทั่วไป ชาย-หญิง และเรือซีคยัคฝีพายเดี่ยว เยาวชน ชาย-หญิง ระยะทาง 13 กิโลเมตร ประเภทการแข่งขันนันทนาการ ใช้เรือซีคยัคฝีพายคู่ชาย-หญิง นันทนาการ ระยะทาง 7 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมปลุกจิตสำนึกในการรักษาและความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการพายเรือคยัคสำรวจธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน บริเวณแหลมพระนาง เกาะกลาง และเขาขนาบน้ำ เพื่อตอกย้ำการรับรู้และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ การเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
โดยใช้เรือคยัคในการทำกิจกรรมเพราะไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจวิถีชุมชนซึ่งมีวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้และสืบทอด ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่รณรงค์และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสร้างจิตสำนึก สร้างสรรค์ความเข้าใจและเรียนรู้ในธรรมชาติและวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน