xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วม 2554 พลังชุมชนท้องถิ่น โมเดลรับมือน้ำท่วม มุมดีๆ จาก ต.หัวไผ่ จ.สิงห์บุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายเสียงบอกว่า น้ำท่วมเมืองไทยเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่ภาคเหนือไล่ลงมาถึงภาคกลางตอนล่าง รวมถึงภาคอีสานและภาคใต้ ความยาวนานกินเวลาแรมเดือนของการไหล่บ่าของน้ำและฟ้าฝนที่โหมกระหน่ำ น่าจะเรียกน้ำท่วม 2554 ครั้งนี้ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดเป็น ‘มหาอุทกภัย’ ที่กระจายตัวไปถึง 59 จังหวัด และมีผลกระทบรุนแรงที่สุดจนถึงขั้นวิกฤตสถานการณ์ฉุกเฉิน 28 จังหวัด และมีประชาชนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 250 คน ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายไปกว่า 8 ล้านไร่ บ้านเรือน ถนนหนทาง และโรงงานอุตสาหกรรมเสียหายอย่างไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ในขณะนี้

หากย้อนกลับไปช่วงที่วิกฤตน้ำท่วมเริ่มขึ้นใหม่ๆ ภัยพิบัติที่ถึงขั้นหายนะแรกๆ ต้องเป็นช่องคอสะพานขาด และทำให้ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พังทลายลง ส่งผลให้น้ำบ่าเข้าไหลท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในแถบ จ.สิงห์บุรี ชัยนาท และลพบุรี เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
นับได้ว่าเป็นภาพข่าวแรกๆ ที่เริ่มทำให้คนทั้งประเทศหันมาสนใจกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ของประเทศไทยว่า รุนแรงกว่าครั้งไหนๆ

ภายใต้วิบากกรรมของภัยพิบัติจากอุทกภัยที่ถึงขั้นวิกฤตมีความรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ ความทุกข์ยากลำบากที่โหมประดังเข้ามา ไม่จำเพาะถึงความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนและเงินทอง และผลผลิตจากการเกษตร รวมทั้งร่างกายและจิตใจที่ถูกกระทบอย่างสูง แต่ก็ยังมีมุมดีๆ ที่เห็นพลังชุมชนในท่ามกลางหายนะที่ประตูน้ำระบายน้ำบางโฉมศรี พังทลาย และทำให้ชาวบ้านต้องอยู่ในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก

เสียงสะท้อนจากพื้นที่
“วันนี้อยากให้หน่วยงานรัฐต้องพูดความจริงกัน ประตูระบายน้ำตรงไหนอายุนาน และต้องบอกว่าควรจะซ่อมยังไง และไม่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างบางโฉมศรี วัตถุประสงค์คือ ระบายน้ำจากเชียงรากออกสู่เจ้าพระยา ไม่ใช่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เชียงราก ต้องเอาความจริงมานั่งดูกัน” ทวีป จูมั่น นายกอบต. หัวไผ่ อ. เมือง จ.สิงห์บุรี ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตอบทันทีเมื่อถูกถามว่า อยากบอกอะไรกับรัฐบาล

การได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทวีปย้ำว่า ‘รัฐควรบอกความจริงกับประชาชน’ เมื่อถามถึงการรับมือกับน้ำที่มามากและเร็วกว่าทุกปี ทวีปเล่าว่า ในท้องที่รู้ว่า น้ำน่าจะมาเดือนสิงหาฯ คม ในวันที่ 15 จึงเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำดื่ม และข้าวสาร พร้อมทั้งไปเฝ้าระวังประตูระบายน้ำบางโฉมศรีไม่ให้พัง และมีการประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือ รวมไปถึงช่วยเหลือพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่จะต้องเผชิญกับน้ำที่ไหลบ่าลงมาก่อน คือเขต อ.อินทร์บุรี อันประกอบไปด้วย ต.น้ำตาล เทศบาลอินทร์บุรี ต.ท่างาม ต. ชีน้ำร้าย และส่งข่าวต่อไปยังเครือข่ายในเขต จ. ลพบุรี เช่น ต.มหสร ต.บางขาม เพื่อรวมกำลังกันออกมาช่วยป้องกัน กรอกทรายลงกระสอบ ทำพนังกั้นน้ำ

“แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ หลังจากที่ได้รับข่าวจากเครือข่ายว่า ตรงคอสะพานบางโฉมศรีมีปัญหา เราก็ไปดู ก็หวังจะจัดการ แต่ไม่สามารถจัดการได้ พอมาวันที่ 12-13 กันยาฯ คอสะพานบางโฉมศรีก็พัง จริงๆ แล้วตรงนั้นเป็นรูเล็กๆ แต่ทางชลประทานไม่ได้จัดการ ขนาดวันที่จะพังใหญ่ผมรู้เอาตอนบ่ายสองโมง ไปถึงประตูระบายน้ำไม่เกินบ่ายสามโมง ก็คุยกับทางชลประทานว่าใครจะจัดการได้ รถแบ็กโฮของชลประทานที่มีอยู่ ขอใช้ได้ไหม เราขอให้เขาสั่งให้รถแบ็กโฮดำเนินการ ขณะที่เราออกไปขนกระสอบทราย มาเตรียมไว้ ปรากฏว่าไม่มีคำสั่งจากทางชลประทานให้รถแบ็กโฮดำเนินการ” ทวีปเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนที่ประตูระบายน้ำคลองบางโฉมศรีจะพังลงมา

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า แม้ว่าจะอุดน้ำไว้ที่คลองบางโฉมศรีได้ นั่นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบ หากแต่ยังมีประตูระบายน้ำอีก 2 จุดเหนือขึ้นไป หากมีการจัดการรับมือที่ดี ก็จะช่วยไม่ให้น้ำทะลักลงสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

“การอุดน้ำที่ไปอุดอยู่ไม่ใช่ตรงที่จะชะลอน้ำได้ แต่มีสะพานยาวที่ตรงชัยนาทอีกที่ และบ้านน้ำตาลอีกที่หนึ่ง” นายกอบต. หัวไผ่กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนี้ที่น้ำทะลักลงมาท่วมพื้นที่ ต.หัวไผ่ แล้วด้วยระดับน้ำที่สูงราวเมตรครึ่งถึงสองเมตร วิธีรับมือของอบต.หัวไผ่ ล้วนเกิดจากการเตรียมการไว้ก่อนและอาศัยเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 13 หมู่บ้านซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม และจะต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด นายกอ บต. หัวไผ่ ทวีปได้เตรียมการทำพนังกั้นน้ำไว้หนึ่งหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เป็นกองอำนวยการและอพยพประชาชน ซึ่งขณะนี้รองรับผู้ได้รับผลกระทบไม่มีที่พักอาศัย 93 ครัวเรือน ประมาณ 400 คน และการรักษาพื้นที่นี้ได้ ทำให้การจัดการของบริจาคเข้าไปสู่หมู่บ้านได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ น้ำบริโภคกับข้าวสาร เขาประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่อำนวยการในการจัดการสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้เข้าถึงทุกครัวเรือน

“การจัดการในหมูบ้านมี 5 คน ให้ 5 คนกระจายว่าคนหนึ่งดูแลบ้านกี่หลัง อีกส่วนหนึ่งคือให้เบอร์โทรศัพท์นายกไปกับชาวบ้านให้หมด เพราะเราห่วงการจัดการที่ไม่ทั่วถึง ทำให้เราบริหารได้ง่ายขึ้น ชาวบ้านเขาจะกล้าแต่เราก็ไม่ได้จับผิดกัน เช่น สมมติรู้ว่ามีคนไม่ได้ของ นายกก็ต้องชวนผู้ใหญ่บ้านลงไปด้วยกัน”

การปฏิบัติงานกู้ภัยฉุกเฉินรวดเร็วได้ใจ แก้ไขทันการณ์
ในส่วนของความช่วยเหลือจากเครือข่ายนั้น โกเมศร์ ทองบุญชู จากเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการภัยพิบัติและพัฒนาระบบอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติมายาวนานหลายปี ได้ขึ้นมาให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 พร้อมด้วยอาสาสมัคร 15 คน ลงและเรือยนต์ 6 ลำ แบ่งภารกิจเป็น 3 ส่วนคือ 1. สนับสนุนการขนส่ง เช่น รับส่ง ผู้ป่วย คนที่ออกไปธุระ 2. ขนส่งถุงยังชีพ และส่วนที่ 3 เห็นโมเดลของของนายกทวีป คือการทำพนังกั้นน้ำให้กับศูนย์บัญชาการ

“เป็นโมเดลหนึ่งที่น่าเรียนรู้ คือการรักษาฐานที่มั่น เพราะ 13 หมู่บ้านท่วมหมด เหลือ 1 หมู่บ้านยกพนังกั้นขึ้นมา แต่ถ้าเจอน้ำเยอะก็จะรับไม่ไหว ต้องรักษาให้ได้ ก็เอาเรือไปลากผักตบชวามาปะพนังกันน้ำกั้นลดแรงกระแทกคลื่น”
โกเมศร์ตั้งข้อสังเกต ก่อนจะเล่าต่อไปว่า เพื่อป้องกันพนังกั้นน้ำให้กับศูนย์บัญชาการภัยพิบัติของ ต.หัวไผ่ เขาสำรวจพบว่า ตลอดความยาวของพนังกั้นน้ำที่สร้างขึ้นจากดินปนทรายเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรนั้น ต้องเผชิญกับน้ำที่ไหลบ่ามาแรงจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพนังกั้นน้ำได้หลายจุด จึงเริ่มมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่พอจะช่วยบรรเทาความแรงของคลื่นที่จะเข้ามากัดเซาะพนังกั้นน้ำ และผักตบชวา ก็คือทางออกด้วยเหตุผลว่า เป็นสิ่งเดียวที่หาได้ง่าย

“พวกที่เขาเดินสำรวจ ก็นอนไม่หลับเพราะคลื่นแรงมาก ตื่นเช้าขึ้นมาก็เดินสำรวจกันทุกวัน เส้นทาง 2 กิโลฯ เศษ เราดูว่าช่วงไหนที่ลมเข้า คลื่นเข้า แรงงานที่ออกมาช่วยกันทำพนังกั้นน้ำนั้นเป็นแรงงานอาสาทั้งสิ้น โดยแกนนำชุมชนและชาวบ้านราวๆ 20-30 คนจะเข้ามาเป็นกำลังเสริมทุกๆ วัน เพื่อออกไปลากผักตบชวามาโปะพนังกั้นน้ำ และต้องคอยเสริมพนังกั้นน้ำไว้ตลอด เพราะคลื่นเปลี่ยนทิศทางตลอดเวลา”

โกเมศร์ให้ความเห็นว่า แม้ว่าสภาพที่เขาพบเมื่อเดินทางมาถึง คือ น้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน แต่ไม่มีเหตุฉุกเฉินให้ต้องรับมือ การจัดการภัยพิบัติที่ ต. หัวไผ่ มีการเตรียมการรับมือที่ดี ซึ่งถือว่านี่เป็นโมเดลการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นในภาวะภัยพิบัติที่น่าเรียนรู้

“ไม่มีเหตุฉุกเฉิน ต้องชื่นชมเพราะผู้บริหารที่นี่เข้าใจ ผมเห็นพลังความเข้มแข็งของชุมชนนี่น่าจะเป็นโมเดลใหม่ คนที่นี่มีความอดทนสูงมากผมเห็นงานช่วยเหลือภัยพิบัติหลายพื้นที่ แต่ระบบการจัดการอย่างถุงยังชีพที่นี่จัดการได้ดีมาก ไม่มีเกะกะเพ่นพ่าน ทั่วถึง ไม่ต้องโวยวาย สิ่งสำคัญที่สุดคนที่นี่มีน้ำใจ” โกเมศร์กล่าวทิ้งท้าย
……….

นี่คือโมเดลของพลังชุมชนที่เข้มแข็ง แม้จะผจญอุทกภัยที่รุนแรง แต่ด้วยแรงจากประชาสังคมที่ผูกโครงข่ายอย่างมีระบบการจัดการที่ดีเท่าที่จะทำได้ให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยบรรเทาเบาบางให้หนักกลายเป็นเบา ไม่รอคอยแต่ความช่วยเหลือจากภายนอกและหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว ความมีน้ำใจของคนในชุมชนเองที่วางความเห็นแก่ตัวทิ้งไว้และทำทุกอย่างเพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอดและประสบความเสียหายน้อยที่สุด แม้น้ำท่วมจะเป็นทุกข์ที่แสนสาหัสทั้งทางปัจจัย 4 และจิตใจของผู้คน รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาหลังน้ำท่วม แต่เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคมเข้มข้น ปัญหาจากหนักก็จะกลายเป็นเบา และเป็นโมเดลที่น่าจะเป็นแบบอย่างเพื่อรับมือกับน้ำท่วมต่อไปในอนาคตสำหรับชุมชนต่างๆที่อยู่ในภาวะเสี่ยงประสบอุทกภัย

>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง / ภาพ : ศูนย์สื่อสารเพื่อสังคม



กำลังโหลดความคิดเห็น