xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติผลิตคู่มือระวังภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.ระดมผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติภาคใต้ เข้าร่วมประชุมการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค.นี้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านภัยพิบัติ พร้อมจัดทำคู่มือการเรียนการสอนให้แก่เด็กในชุมชนภาคใต้ เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมกับมูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จัดประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติในภาคใต้” ในระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนภาคใต้ องค์กรที่มีภารกิจด้านป้องกัน บรรเทา ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนนักวิชาการและประชาชนที่สนใจด้านภัยพิบัติธรรมชาติ

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะมีตัวแทนนักวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ในแต่ละพื้นที่ และมีการบรรยายเรื่องภัยพิบัติจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยพิบัติจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกและหลุมยุบ ภัยพิบัติจากดินถล่ม ตลอดจนการนำเสนอรูปแบบหรือองค์ความรู้ในการป้องกันและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในชุมชนหรือในท้องถิ่นตัวเอง เพื่อสรุปและจัดทำเป็นบทเรียนในการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติให้แก่ชุมชนท้องถิ่นนำไปปฏิบัติและเป็นแบบเรียนให้แก่นักเรียนในพื้นที่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายรูปแบบ ทั้งที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น สึนามิจากแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม วาตภัย คลื่นกัดเซาะชายฝั่งจากมรสุม หรือดินถล่มจากรอยเลื่อนของเปลือกโลก เป็นต้น เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชน และองค์กรการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่นั้นได้ทำการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถ และกระทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละชุมชนดังกล่าว ได้สั่งสมประสบการณ์ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ในการป้องกัน และช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติธรรมชาติ ของพื้นที่ตนเองในรูปแบบต่างๆ ขึ้น

“ม.อ.และมูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เห็นว่า องค์ความรู้ด้านการจัดการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนต่างๆ ที่ประสบภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างองค์รู้ในการป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลดความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากภัยพิบัติได้” อธิการบดี ม.อ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น