xs
xsm
sm
md
lg

มอ.ปัตตานี จับมือ ม.ซายส์ ประเทศมาเลเซีย นำเสนองานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มอ.ปัตตานี จับมือ มหาวิทยาลัยซายส์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเวทีนักวิชาการอาเซียน นำเสนองานวิจัยจำนวน 90 เรื่อง ทั้งด้านสันติภาพ สังคม และวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการท่องเที่ยว เพื่อต่อยอดการพัฒนางานวิจัยที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการวิจัยเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (3 ต.ค.) ที่โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผศ.ดร.ยุพดี ชัยสุขสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ PSU-USM International Conference on Humanities and Social Sciences 2011 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ มหาวิทยาลัยซายส์ ประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดเวทีให้นักวิชาการ และนักวิจัย ในภูมิภาคเอเชียกว่า 200 คน นำเสนอผลงานวิจัยจำนวน 90 เรื่อง ทั้งด้านสันติภาพ สังคม และวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการท่องเที่ยว เพื่อต่อยอดการพัฒนางานวิจัยที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการวิจัยเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ยุพดี ชัยสุขสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การประชุมวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิจัยในครั้งนี้ได้รับความสนใจจาก 7 ประเทศในเอเชีย ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย อิหร่าน เกาหลี มาเลเซีย และ ไทย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการในแขนงต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการวิจัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาค จึงถือเป็นภาระหน้าที่ในการเป็นแหล่งให้การศึกษาวิจัย การบริการทางวิชาการ และสร้างสรรค์วิทยาการใหม่ๆ ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ อีกทั้งสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ทำให้มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรม รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และภาคเครือข่ายร่วมกันศึกษาวิจัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเสนอแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ บาดารุดดิน โมฮัมเหม็ด คณะบดีสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มหาวิทยาลัยซายส์ ประเทศมาเลเซีย หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานประชุมวิชาการ เผยว่า การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของวงการการศึกษาและวิจัยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมหาวิทยาลัยซายส์ ได้ส่งผลงานวิจัยในหลายหัวข้อด้วยกัน ที่โดดเด่นจะเป็นในส่วนของการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาค เนื่องจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทำให้ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนมีความคล้ายคลึงกัน จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศเดียวกันก็ไม่ผิด

การศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการกระชับความสัมพันธ์ และการพัฒนาร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และ สังคม ของทั้ง 2 ประเทศ ควบคู่กันไป ซึ่งตนเชื่อว่า น่าจะดีกว่าการที่เราต้องก้าวตามชาติตะวันตก ที่มีปัจจัยพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น