xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมเภสัชฯ แนะหมอยารับมือทุกสถานการณ์วิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพน้ำท่วมรพ.
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล ฯ จัดประชุมวิชาการ แนะ! เภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศเตรียมรับมือทุกสถานการณ์ในยุควิกฤติ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในยุควิกฤติทางเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ โดยจัดประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เรื่อง “เภสัชกรโรงพยาบาล ในยุควิกฤติ” มุ่งส่งเสริมกระบวนการดูแลผู้ป่วย และการจัดการระบบยาให้มีคุณภาพ พร้อมเตรียมหาแนวทางการรับมือและส่งมอบยาอย่างมีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย โดยมีผู้เภสัชกรเข้าร่วมกว่า 600 คน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 ปี เมื่อเร็วๆ นี้

ภก.วิพิน กาญจนการุณ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้เภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศถึงบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในยุควิกฤติทางเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ จึงได้จัดประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เรื่อง “เภสัชกรโรงพยาบาลในยุควิกฤติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมกระบวนการดูแลผู้ป่วย และการจัดการระบบยาให้มีคุณภาพ พร้อมเตรียมหาแนวทางการรับมือและส่งมอบยาอย่างมีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วยในยุควิกฤติทางเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ

ภญ.วรรณี มานะกิจศิริสุทธิ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี เผยว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศขึ้น โรงพยาบาลขนาดเล็กมักประสบปัญหาการขาดทุน ไม่มีเงินซื้อยา ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนยาจำนวนมาก ประชาชนมักเปลี่ยนไปใช้บริการโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมกว่า ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนหนักขึ้นไปอีก ส่งผลให้บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจจนต้องขอโยกย้ายไปที่อื่น หากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็อาจต้องปิดโรงพยาบาลในที่สุด

"ในภาวะวิกฤติดังกล่าว เภสัชกรจะต้องจัดการในการหาแนวทางให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ดีที่สุด ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่นโยบายของโรงพยาบาลผ่านคณะกรรมการเภสัชกรรมแกรบำบัด จึงจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะสามารถลดมูลค่ายาที่ใช้ในการจัดซื้อได้จริง โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาการจัดซื้อยาและแยกบัญชียา เป็นบัญชียาที่จำเป็นต้องซื้อก่อนเพราะขาดไม่ได้ และบัญชียาที่สามารถใช้ยาอื่นแทนได้ การใช้ยาก็จะต้องมีความสมเหตุสมผลและใช้ตามแนวเวชปฏิบัติ มิฉะนั้นก็จะไม่จ่ายยา มีการปรับยาบางตัวมาใช้ยาที่ใช้แทนกันได้และเป็นยาสามัญ โดยเฉพาะยาต้านจุลชีพ แต่จะต้องดูปัญหาของคนไข้ด้วย หากรุนแรงก็จะไม่มีการแทนยา นอกจากนี้ก็มีการพิจารณาเป็นแผนกเพื่อตรวจสอบว่าสามารถตัดทอนยาหรือเหลือยาที่จำเป็นตัวใดบ้าง และทำบัญชียาที่ค้างชำระ เพื่อหาวิธีในการลดหย่อนและนำยาที่มีอยู่มาใช้ มีการเข้าร่วมโครงการลดยาเหลือใช้ปลอดภัยปลอดโรค และมีการเย็บถุงผ้าขึ้นเองในโรงพยาบาลไว้เป็นถุงใส่ยา"
ยาจำนวนมากที่ต้องขนย้ายออกจากคลังยา
ภญ.วรรณียังกล่าวต่อด้วยว่า ให้คนไข้นำถุงยานี้มาทุกครั้ง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทำถุงยา ในเรื่องการอบรมเพื่อพัฒนา เพิ่มความรู้ก็เปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น อินเตอร์เน็ต หนังสือ เป็นต้น

ส่วนทางด้าน ภญ.สุรีรัตน์ ตั้งสง่าศักดิ์ศรี หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ เผยถึงวิกฤตการณ์น้ำท่วมว่า สำหรับในประเทศไทยแล้วมีหลายโรงพยาบาลที่มีคลังเวชภัณฑ์อยู่ใต้ดิน เมื่อประสบปัญหาน้ำท่วมจึงเกิดความสูญเสียของเวชภัณฑ์ไม่น้อย   โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา นับเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนต้องมีการตื่นตัว และพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้ สิ่งสำคัญที่เภสัชกรโรงพยาบาลต้องเตรียมรับสถานการณ์ก่อนน้ำท่วม คือ สถานที่รองรับยาและเวชภัณฑ์ ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า และคำนึงถึงประเภท ชนิดของยาที่จะเก็บด้วย เพราะยาบางตัวต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือห้องเย็น รวมทั้งจำนวนยาที่มีจำนวนมากและหลากหลายจำเป็นต้องหาห้องที่มีพื้นที่พอสมควร และเรื่องของการขนย้ายจำเป็นต้องเตรียมหาอุปกรณ์เพื่อใช้ในการขนย้าย เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว  

"การคาดการณ์กับสถานการณ์น้ำท่วมก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรจัดทีมคาดการณ์พร้อมประสานงานกับเทศบาลและวิทยุชุมชนเพื่อติดตามระดับน้ำท่วมว่าอยู่ในขั้นวิกฤติหรือไม่  และเตรียมรายการยาที่จำเป็น โดยแยกเป็น ยาที่ใช้ในโรงพยาบาล ยาที่ใช้ออกหน่วย หรือยาสนับสนุนโรงพยาบาลอื่นๆ รวมถึงต้องมียาที่จำเป็นในกรณีน้ำท่วม อาทิ ยาแก้ท้องเสีย ย าลดไข้ ยาแก้เชื้อรา ยาแก้แพ้ น้ำเกลือ ยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์ขนย้ายต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ"หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น