พัทลุง - ผลไม้ออกดอกนอกฤดู ส่งผลดีต่อกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย จ.พัทลุง ทำให้สามารถเก็บน้ำผึ้ง 3-4 ครั้ง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านกว่า 700,000 บาทต่อปี
ผึ้งโพรง เป็นผึ้งพันธุ์ของเมืองไทยชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในทุกภาค ซึ่งในธรรมชาติของผึ้งโพรงจะสร้างรังด้วยการสร้างรวงซ้อนเรียงกัน อยู่ในโพรงไม้หรือโพรงหิน โดยมีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็ก เพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก แต่ภายในจะมีพื้นที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้ ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีอัตราการแยกรังค่อนข้างบ่อย และจะทิ้งรังเดิมเมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ขาดแคลนอาหารและมีศัตรูรบกวน
ซึ่งการเลี้ยงผึ้งโพรงให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องมีใจรัก อดทน มีเวลา มีความรู้ในเรื่องชีววิทยา พฤติกรรมของผึ้ง การจัดการรังผึ้ง และอาศัยประสบการณ์ในการเลี้ยงผึ้ง เพื่อจะได้จัดการ รังผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จต่อไป อย่างเช่น กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่ประสบความสำเร็จสามารถมีรายเสริมจากการขายน้ำผึ้งปีละหลายแสนบาท
โดย นายดลเหราะหมาน หนุ่มอุ้ย อายุ 47 ปี ประธานกลุ่ม อยู่บ้านเลขที่ 354/1 ม.2 ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ในกลุ่มสมาชิกใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยางหันมาเลี้ยงผึ้งโพรงไทยจนประสบความสำเร็จ มีการรวมกลุ่มในนามกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย (บ้านทุ่งเหรียง) ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 70 คน มีการเลี้ยงผึ้งประมาณ 800-1,000 รัง ให้ผลผลิต จำนวน 1,500 ขวด จำหน่ายในราคาขวดละ 500 บาท เป็นเงิน 750,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นเพียงการสร้างรายได้เสริมหลังจากงานประจำ
ส่วนวิธีการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยนั้นง่ายมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ หรือพรวนดิน โดยการนำเศษไม้เก่าๆ มาทำรังขนาดกว้าง 35 ซม.ยาว 50 ซม.และสูง 30 ซม.แล้วนำเสาสำหรับวางรังผึ้งขนาดความสูงประมาณ 1 ม. ไปวางไว้บริเวณในสวนผลไม้ข้างบ้าน หรือบริเวณริมคลองเป็นอันว่าเสร็จ รอประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะมีผึ้งเข้ามาทำรัง อีกประมาณ 2 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เฉลี่ยรังละ 5 ขวด จนปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
นายดลเหราะหมาน ยังกล่าวอีกว่า ปีนี้ ถือว่ากลุ่มสมาชิกมีรายได้ที่สูงเลยทีเดียว เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดพัทลุงขณะนี้ ไม้ผลต่างๆ เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง รวมถึงผลไม้อื่นๆ กำลังออกดอก ให้ผลนอกฤดู ทำให้ผึ้งสามารถหาน้ำหวานจากดอกไม้ได้เยอะ จนทำให้สมาชิกสามารถเก็บผลผลิตได้ 3-4 ครั้ง จนสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง หากเกษตรกรสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ นายดลเหราะหมาน โทร.089-974-3631