ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรรมการสิทธิฯ แนะชาวบ้านร่วมกับองค์กรท้องถิ่นทุกระดับแก้ไขปัญหา หลังลงสำรวจพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่ อ.จะนะ กรณีชาวบ้านลงชื่อเรียกร้องให้กรมทางหลวงสร้างสะพานระบายน้ำคืนแก่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม หลังกรมทางหลวงรื้อสะพานระบายน้ำออกถึง 3 แห่ง เป็นเหตุให้ อ.จะนะ ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องด้วย
วันนี้ (25 ก.ย.) นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วยคณะทำงาน ลงพื้นที่สำรวจบ้านทุ่งใหญ่ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา หลังชาวบ้านรวมตัวกันร้องเรียนให้กรมทางหลวงสร้างสะพานระบายน้ำคืนให้แก่ชุมชนแก้ปัญหาน้ำท่วม
หลังกรมทางหลวงก่อสร้างถนนขวางทางระบายน้ำ โดยรื้อสะพานข้ามคลองออกถึง 3 แห่ง รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากกรมชลประทานสงขลาไม่ดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำให้แล้วเสร็จด้วย โดยหยุดการก่อสร้างอยู่ที่พื้นที่บ้านทุ่งใหญ่ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และไหลบ่าท่วมพื้นที่อื่นๆ ใน อ.จะนะ ได้รับความเดือดร้อน
นายจรัญ คงเต็ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 และพ่วงตำแหน่งสมาชิกเครือข่ายฅนรักษ์จะนะ สมาชิกเครือข่ายฅนรักบ้านทุ่งใหญ่ เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านทุ่งใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากปัญหาหลัก 2 อย่าง ได้แก่ การสร้างถนน 4 เลน ขวางทางน้ำของกรมทางหลวง และการสร้างคลองส่งน้ำไม่เสร็จหยุดอยู่ที่บ้านทุ่งใหญ่
ปัญหาจากการสร้างถนน 4 เลน นั้น เกิดจากแต่เดิมมีการสร้างสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ระหว่างเส้นทางจากหอนาฬิกาจะนะไปยังหมู่บ้านสะกอม รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึง 3 แห่ง เพื่อระบายน้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ขณะที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 43 จากหาดใหญ่สู่ปัตตานี นั้น ได้มีการรื้อสะพานทั้ง 3 แห่งออก และใช้ท่อเหลี่ยมและท่อกลมฝังใต้ถนนเพื่อระบายน้ำแทน
ปรากฏว่า วิธีการดังกล่าวไม่มีศักยภาพพอในการระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี และท่วมหนักมากในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่นั้นเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำจากที่ต่างๆ ก่อนจะไหลไปตามป่าพรุ สู่คลองแมแน บ้านป่าสี่ ต.ตลิ่งชัน ระบายลงคลองป่าห้าม คลองนาทับ และไหลสู่ทะเลต่อไป
ส่วนปัญหาเรื่องคลองส่งน้ำที่กรมชลประทานสงขลาดำเนินการสร้างไม่เสร็จนั้น ทิ้งร้างมาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว โดยได้ก่อสร้างคลองส่งน้ำมาหยุดคาอยู่ที่หมู่บ้านทุ่งใหญ่ ซึ่งกินพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 8 ต.บ้านนา อ.จะนะ ประมาณ 500 ไร่ โดยอ้างเหตุว่าที่ไม่สานต่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จนั้น เพราะติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชาวบ้านร่วม 50 ครัวเรือน ที่เคยทำนา ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง
นายวรรโณ จุลิวรรณลีย์ ตัวแทนชาวบ้านบ้านทุ่งใหญ่ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมชลประทานสงขลาสร้างคลองส่งน้ำมาหยุดคา ทิ้งร้างอยู่ที่บ้านทุ่งใหญ่เป็นเวลา 18 ปีจนถึงวันนี้ ชาวบ้านที่เคยทำนาในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ทำนาได้แค่ 2 ครั้ง จากเดิมที่ชาวบ้านเคยทำนาได้ผลดีเพราะเป็นที่ลุ่ม ก็กลับทำนาไม่ได้ เพราะน้ำท่วมขังตลอดปี ทำให้ต้นข้าวเปื่อย ต้องซื้อข้าวสารกินทั้งๆ ที่เมื่อก่อนมีข้าวเต็มยุ้ง นอกจากนี้ วิถีชีวิตชุมชนก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านต้องหันไปทำอาชีพรับจ้างเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ แถมในฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่ตรงนี้ก็ท่วมสูงมิดหัว
“ตอนแรกที่เขาเริ่มสร้างคลองส่งน้ำ ชาวบ้านแถวนี้ก็ดีใจว่าต่อไปนี้จะได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่า เมื่อชลประทานสร้างก็สร้างไม่เสร็จ ทิ้งให้คาราคาซังกลายเป็นต้นเหตุให้น้ำท่วม ชาวบ้านบางคนที่พอมีเงินหน่อยก็จะถมที่ปลูกยางพารา หรือทำสวนผสม แต่ก็ได้ผลไม่ดี เพราะน้ำขังตลอดปี ทั้งนี้ ชาวบ้านเคยเสนอให้มีการเวนคืนที่ดิน เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย” นายวรรโณ ตัวแทนชาวบ้านบ้านทุ่งใหญ่ กล่าว
ด้าน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวสรุปในเวทีเสวนา “รวมพลังแก้วิกฤตด้วยสิทธิชุมชน” ณ ห้องประชุม 2 โรงพยาบาลจะนะ หลังจากลงสำรวจพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่และคลองน้ำเค็ม โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภาคเอกชน เครือข่ายภาคประชนชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรวม 100 คน ว่า จากการลงพื้นที่สำรวจนั้น ตนมีความเห็นว่าต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทางหลวง ฝ่ายผังเมือง และฝ่ายปกครอง มาดูสภาพพื้นที่จริงและเปิดเวทีไต่สวนสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้สอบถามเหตุผลที่เป็นต้นเหตุของปัญหารวมทั้งวิธีการแก้ไขด้วย
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ต้องรับรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันด้วย โดยต้องมองภาพรวมให้กว้างขึ้น รวมทั้งหารือร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นทุกภาคส่วน ทั้งเทศบาล อบต. และหน่วยงานระดับจังหวัด เพราะต่อให้แก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่ได้ก็จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เนื่องจากถนน 4 เลน หมายถึงเส้นทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่าต่อไปในอนาคต จังหวัดอาจพัฒนาพื้นที่นี้เป็นเขตอุตสาหกรรม
ดังนั้น จึงต้องประสานกันทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน และตนยินดีเป็นคนกลางในการเปิดโอกาสให้ภาครัฐและชาวบ้านได้เจรจาหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ซึ่งประชาชนมีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร