พิจิตร -สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมยังวิกฤต โดยเฉพาะในเขตพิจิตรที่น้ำน่านลด แต่น้ำยมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด พระสงฆ์และชาวบ้าน อ.สามง่าม ช่วยกันรื้อสะพานแขวนออกก่อนจะพังเสียหาย พร้อมโวยเจ้าหน้าที่รัฐในทุกหน่วยงานไร้การเหลียวแล เหตุเพิ่งกลับจากท่องเที่ยวยังตั้งหลักไม่ติด
วันนี้ (10 ส.ค.) นายสัลเลข คำใจ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวจังหวัดพิจิตรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่อาศัยและนาข้าวในที่ลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดลง 2 ซม.ส่วนแม่น้ำยมระดับน้ำได้สูงกว่าจุดวิกฤต 59 ซม.
จึงส่งผลให้น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก พัดพาเอาวัชพืช กิ่งไม้ และขอนไม้ มาติดอัดแน่นที่สะพานแขวนที่ชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ หมู่ 2 และ หมู่ 7 บ้านรังนก อ.สามง่าม ใช้ในการข้ามสัญจรไปมา
ดังนั้น ชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ จึงเกรงว่า สะพานแขวนมูลค่าหลายล้านบาท จะขาดได้รับความเสียหาย จึงรวมตัวกันมาช่วยกันรื้อสะพานออกจึงส่งผลให้ทั้ง 2 หมู่บ้านถ้าจะไปมาหาสู่กันต้องใช้เรือพาย หรือเรือหางยาวในการคมนาคมเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำตาย 2 ราย คือ นายศรี หอมฉุน อายุ 60 ปี เป็นผู้สูงอายุอยู่ที่หมู่ 2 ต.รังนก อ.สามง่าม และ นายชูชีพ อำพา อายุ 50 ปี เป็นชาวบ้านหมู่ 7 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งขณะนี้กำลังสอบสวนถึงสาเหตุการตาย โดยถ้าพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากอุทกภัยน้ำท่วม ก็จะได้หาทางเยียวยาตามระเบียบราชการต่อไป แต่ถ้าเป็นกรณีประมาท หรือมึนเมาสุราจนตกน้ำตาย ก็จะไม่สามารถขอรับการช่วยเหลือได้
สำหรับจังหวัดพิจิตรขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายเบื้องต้น มีความเสียหายเพิ่มขึ้นรวม 7 อำเภอ 42 ตำบล 204 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 6,324 ครอบครัว พื้นที่นาข้าว 90,896 ไร่ พืชสวน 20 ไร่ ถนน 10 สาย จึงส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนและเรียกร้องขอความช่วยเหลือไปตามๆ กัน เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่มีการลงพื้นที่อย่างจริงจังของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้นำท้องถิ่นก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณต้องรอจังหวัด ส่วนระดับจังหวัดก็อ้างว่าสั่งการให้ท้องถิ่นรวมถึงนายอำเภอใช้งบฉุกเฉินอำเภอละ 1 ล้านบาท ช่วยชาวบ้านได้ แต่เอาเข้าจริงกลับมองไม่เห็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านแห่กันมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนในสารพัดปัญหา
นั่นอาจเป็นเพราะเมื่อช่วงวันที่ 5-7 สิงหาคม 2554 การช่วยเหลือชาวบ้านต้องสะดุดหยุดลงเพราะหัวหน้าส่วนราชการบางหน่วยงาน และผู้บริหารระดับจังหวัดรวมถึงผู้นำท้องถิ่นเพิ่งไปท่องเที่ยวจังหวัดระยองเมืองชายทะเล และกลับมาตั้งหลักกว่าจะช่วยชาวบ้านเอาเมื่อวันที่ 8 ส.ค.54 และกว่าจะลงมือได้ จึงทำให้เสียงร้องของชาวบ้านพิจิตรที่มีความทุกข์ร้องระงมผ่านสื่อมวลชนจนเป็นข่าวเศร้าใจดังกล่าว