xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.สุราษฎร์ฯเตือนโรคมือ ปาก เท้า เปื่อย ระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ณัฐวุฒิ  ประเสริฐสิริพงศ์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี -สสจ.สุราษฎร์ธานี เตือนผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาล และในสถานเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลบุตรหลานและเด็กในสังกัดอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้มีการระบาดใน 11 อำเภอของสุราษฎร์ฯ พร้อมส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างใกล้ชิดทันท่วงที

นายแพทย์ ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานการระบาดผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 - 27 สิงหาคม 2554 ได้รับรายงาน 39 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 3.92 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ อายุ 0-4 ปี จำนวน 31 ราย รองลงมา คือ 5-9 ปี จำนวน 5 ราย อายุ 45-54 จำนวน 2 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคม จำนวน 12 ราย จาก 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง พุนพิน กาญจนดิษฐ์ ท่าฉาง บ้านนาเดิม บ้านนาสาร เวียงสระ ท่าชนะ คีรีรัฐนิคม พระแสงและอำเภอชัยบุรี อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรสูงสุด คือ อำเภอบ้านนาเดิมและอำเภอท่าชนะ ตามลำดับ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยแจ้งข้อมูลให้กับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้มีการตรวจจับการระบาดเป็นรายพื้นที่ ทำให้ทราบความผิดปกติสามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างทันท่วงที

สำหรับ โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการได้รับเชื้อจากอุจจาระ ฝอย ละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก เริ่มด้วยไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1 - 2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำๆ อีก 2-3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย ระมัดระวังการไอจามรดกัน ไม่ใช้ภาชนะอาหารหรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วย

มาตรการช่วงที่เกิดโรคระบาดต้องเน้นการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจมีความจำเป็นจะต้องประกาศเขตติดโรคและปิดสถานที่ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงเรียนเด็กเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กป่วย และเน้นการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล และบ้านเรือนที่มีผู้ป่วย หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียนผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงต้องรีบแจ้งการระบาด ที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด ให้ความรู้ และคำแนะนำ

นายแพทย์ ณัฐวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และแยกเด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่มีการระบาด หากเด็กมีตุ่มในปากโดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียนอยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอมทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

“โรคดังกล่าวไม่รุนแรงไม่อันตรายถึงกับชีวิต หากไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่พบมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจึงจำเป็นต้องควบคุมและป้องกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น