xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! เชื้อตัวใหม่ “มือ เท้า ปาก” แรงถึงตาย สธ.เตรียมตั้งวอร์รูมรับมือหวั่นระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค เผย ตรวจพบโรคมือ เท้า ปาก เจอเชื้อตัวใหม่ เอนเทอโรไวรัส 71 ไม่เคยพบในไทย รุนแรงถึงตาย เผยตายแล้ว 5 ราย ทั่วประเทศป่วยแล้วกว่า 8 พันราย กทม.มากสุด 1,500 ราย สธ.เตรียมตั้งวอร์รูมรับมือ หวั่นระบาด ด้านกรมควบคุมโรคสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กทันที หากพบเด็กป่วย

วานนี้ (24 ส.ค.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก อย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้มีการตรวจพบผู้ป่วยเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ไม่เคยตรวจพบในประเทศไทยมาก่อนแต่มีรายงานการระบาดในต่างประเทศ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งนี้ ส่วนมากในประเทศไทยผู้ป่วยมักเกิดจากเชื้อคอกซากี ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อ และมีอาการจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

นพ.มานิต กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในทุกจังหวัดดำเนินการมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังที่เข้มข้นมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยออกเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังโรค หากพบเด็กเล็กป่วยและมีอาการน่าสงสัยให้รีบนำไปพบแพทย์ทันที อีกทั้งควบคุมสถานเลี้ยงเด็ก หรือสถานที่ที่มีเด็กเล็กมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ถ้าพบเด็กมีอาการป่วยให้แยกเด็กที่ป่วยออกและปิดสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กเป็นการชั่วคราวทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการควบคุมโรค

ด้านนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปากแล้ว 5 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ เชื้อคอกซากี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ส.ค.2554 พบผู้ป่วย 8,405 ราย จาก 76 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 13.23 ต่อแสนประชากร กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 1,513 ราย ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ แรกคือ สมุทรสงคราม ระยอง เชียงราย พัทลุง และ ปราจีนบุรี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง 19.20 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 0-27 วัน (1,019 ราย), 1 ปี (861 ราย), 2 ปี (666 ราย), ภาคเหนือ 15.98 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (600 ราย), 2 ปี (553 ราย), 3 ปี (326 ราย), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.44 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (568 ราย), 2 ปี (524 ราย), 3 ปี (331 ราย), ภาคใต้ 6.71 ต่อแสน พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (195 ราย), 2 ปี (152 ราย), 3 ปี (108 ราย),

รายงานข่าวระบุว่า ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ คาดว่า กระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก หรือวอร์รูมในระดับกระทรวง เพื่อดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค เช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการเมื่อเกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

สำหรับโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หลังติดเชื้อ 3-5 วัน จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย พบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น และ เหงือก ต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ บางรายจะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า หรือแก้มก้น และกลายเป็นตุ่มน้ำเล็กๆตามมา ส่วนใหญ่มักหายได้เอง ในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย
กำลังโหลดความคิดเห็น