ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -คณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเวทีสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ รูปแบบการบริหารมหานครหาดใหญ่ในอนาคต เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการมหานครหาดใหญ่ พ.ศ.... โดยชูการกระจายอำนาจที่นำมาซึ่งงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น และการบูรณาการแก้ปัญหาที่เป็นเอกภาพ โดยมีการยุบรวมเทศบาลหลายแห่งเข้าร่วม ขณะที่เทศบาลเมืองคลองแหยื่นหนังสือผลการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่โรงแรมโกลเด้นคราวน์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ ร่วมกับ คณะผู้วิจัยสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำโดย รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล ได้เปิดเวทีสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ รูปแบบการบริหารมหานครหาดใหญ่ในอนาคต เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการมหานครหาดใหญ่ พ.ศ... ซึ่งเป็นการสรุปผลการศึกษาครั้งที่ 3 ที่มีเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นผู้ว่าจ้าง โดยได้เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2554 และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 10 กันยายน 2554 ท่ามกลางการร่วมรับฟังทั้งประชาชน ตัวแทนสถานศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และสมาคม ห้างร้าน เป็นต้น
ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความแตกแยก ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ข้อเรียกร้องต่างๆ ไปกระจุกอยู่ที่รัฐบาลกลางเพียงส่วนเดียว เพราะการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นท้องถิ่นแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลางจะเป็นการแก้ปัญหาที่ทันเวลาและตรงเวลามากกว่า เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน
เช่นปัญหาที่เกิดกับเมืองหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก็บภาษีได้มากพอกับเมืองพัทยา แต่ได้รับการจัดสรรเพียงปีละ 900 ล้านบาท โดยรายได้มาจากการเก็บภาษีเองได้มากราว 450 ล้าน/ปี กลับมีรายจ่ายเป็นค่าเงินเดือนถึงเกือบ 800 ล้านบาท/ปี ขณะที่เงินอุดหนุนกลับต้องแบ่งให้อบจ. 10% ส่วนที่เหลือแบ่งกับ อบต.และเทศบาลอื่นๆ จึงไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหา และไม่สามารถบูรณาการพื้นที่แก้ปัญหาในวงกว้าง เช่น ปัญหาน้ำท่วมได้
สอดคล้องกันนโยบายรัฐบาล ที่มีแนวคิดในการกระจายอำนาจและการปกครองรูปแบบพิเศษ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการกรุงเทพมหานคร ที่รวมปริมณฑลเป็นหนึ่งเดียว หรือแม้แต่เมืองพัทยา และในขณะนี้มีอีกหลายพื้นที่ ซึ่งเตรียมตัวยกฐานะรูปแบบการบริหารใหม่ โดยการกระจายอำนาจเป็นพื้นที่พิเศษ เช่น มุกดาหาร แม่สาย สระแก้ว และเบตง โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต มีแนวทางว่าจะยกทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่พิเศษทั้งหมด และยุบ อบจ.ลง
ด้านคณะผู้วิจัยได้นำเสนอสรุปผลการศึกษา 2 รูปแบบ และมีการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการมหานครหาดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทางเทศบาลนครหาดใหญ่นำเข้าที่ประชุมและนำเสนอเข้า ค.ร.ม.ต่อไป คือ รูปแบบที่ 1 ควบรวมเทศบาลนครหาดใหญ่, เทศบาลเมืองคลองแห, เทศบาลเมืองคอหงส์, เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองบ้านพรุเข้าด้วยกันเป็น “มหานครหาดใหญ่” มีฐานะเป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ เขตของ อบจ.สงขลา ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มิให้รวมถึงเขตมหานครหาดใหญ่ และมีการแบ่งพื้นที่การบริหารมหานครหาดใหญ่เป็นเขตและแขวง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่การบริหารงานของนครหาดใหญ่
รูปแบบที่ 2 รวมพื้นที่ของเทศบาลนครหาดใหญ่เทศบาลเมืองคลองแห, เทศบาลเมืองคอหงส์, เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองบ้านพรุเข้าด้วยกัน แต่ไม่ควบรวมพื้นที่ของ 5 เทศบาลแต่อย่างใด เป็นการจัดโครงสร้างการบริหารพื้นที่ใหม่ให้เป็นระบบ 2 ชั้น โดยมีมหานครหาดใหญ่เป็นองค์กรบริหารพื้นที่มหานครหาดใหญ่ระดับบน ส่วนระดับล่างแบ่งออกเป็นนคร มีทั้งหมด 5 นคร มีฐานะเป็นนิติบุคคล รับผิดชอบบริหารพื้นที่เดิมของแต่ละเทศบาลเดิม
สำหรับทิศทางความเป็นเมืองของพื้นที่หาดใหญ่ในอนาคต คณะผู้วิจัยได้เสนอทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ 1.ทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองหาดใหญ่และปริมณฑลแบบกระชับมุ่งตะวันออก เป็นแนวคิดสามเหลี่ยมการพัฒนาเมืองหาดใหญ่-เมืองสงขลา-เมืองใหม่นาทับ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่
ทางเลือกที่ 2 ทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองหาดใหญ่และปริมณฑลแบบมุ่งเหนือ-ใต้ เชื่อมต่อกับสงขลาและบ้านพรุ โดยเกาะไปตามแนวเส้นทางรถไฟและรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหาดใหญ่-สงขลา และทางเลือกที่ 3 ทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองหาดใหญ่และปริมณฑลแบบมุ่งตะวันตก เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและมีระบบขนส่งมวลชนระบบรางรองรับ ทำให้สะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งงานนอกเมืองหาดใหญ่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมฉลุง และแหล่งงานที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบินหาดใหญ่
ทั้งนี้ หลังการสัมมนาได้มีตัวแทนจากเทศบาลเมืองคลองแหนำหนังสือไม่เห็นด้วยกับการปกครองพิเศษเป็นมหานครหาดใหญ่ใน พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มายื่นให้กับ ดร.ปธาน สุวรรณมงคล คณะผู้วิจัย หลังจากเทศบาลเมืองคลองแหได้ขอมติในที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองคลองแห เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมติในที่ประชุมปรากฏว่าไม่เห็นด้วยกับพื้นที่พิเศษมหานครหาดใหญ่เป็นเอกฉันท์