xs
xsm
sm
md
lg

“เพชรเกษม 41” เข้มข้น เผยผังรัฐหมกเม็ดสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ปฏิบัติการ “เพชรเกษม 41” ณ วนอุทยานเขาพาง จ.ชุมพร ยังเข้มข้นต่อเนื่อง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ชัดแลนด์บริดจ์และโครงการอุตสาหกรรมหนักไม่จำเป็นกับชีวิตคนใต้ ฝ่ายเครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อชุมชนเผยรัฐเตรียมเดินหน้าโครงการ “ผังประเทศไทย 2600” หมกเม็ดให้สร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียวได้ ชาวจะนะลั่น! ไม่ยอมให้รัฐทำลายชีวิตซ้ำรอยโรงไฟฟ้า-โรงก๊าซอีก

เมื่อวันที่ (21 ส.ค.) การอภิปรายบนเวที “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ฅนใต้กำหนดอนาคตตนเอง” ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น โดย ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าสาขา วิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า โครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีการว่าจ้างบริษัท JICA ของญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาและวางแผนการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2528 แล้ว และในปี พ.ศ.2532 สมัยที่นายชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตีก็มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา “สะพานเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้” ให้เชื่อมโยงชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเข้าด้วยกัน ด้วยระบบคมนาคม ขนส่งแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบดด้วย ถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน โดยฝั่งอันดามันนั้นเริ่มที่ จ.กระบี่ มาสิ้นสุดในฝั่งอ่าวไทย ที่ อ.ขนอม จงนครศรีธรรมราช

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 ในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการรื้อแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ขึ้นมาใหม่ และในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเชิญตัวแทนจากบริษัท ดูไบเวิลด์ มาศึกษาว่าจะผุดโครงการต่างๆ อาทิ โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ เขื่อน ฯลฯ ขึ้นมาในพื้นที่ใดของประเทศไทยได้บ้าง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลใหม่ โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมผลักดันและเดดินหน้าโครงการต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์-คัญชุลี โครงการผันน้ำตาปี-พุมดวง โครงการขุดเจาะน้ำมันที่เกาะสมุย ใน จ.สุราษฎร์ธานี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปากน้ำละแม โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน และอาจมีโรงถลุงเหล็ก ใน จ.ชุมพร นิคมอุตสาหกรรม ใน จ.พัทลุง โรงถลุงเหล็ก อ.ระโนด แท่นขุดเจาะน้ำมัน อ.สทิงพระ โรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 อ.จะนะ ใน จ.สงขลา และท่าเรือน้ำลึกปากบารา ใน จ.สตูล เป็นต้น

ดร.อาภา หวังเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ทำเลที่ตั้งของโรงแยกก๊าซนั้นจำเป็นจะต้องมีทะเล มีร่องน้ำลึก ชุมชนที่เป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซจึงมักจะเป็นชุมชนชายทะเล ที่มีวิถีชีวิตแบบชาวประมงมาแต่เดิม ท่อก๊าซและโรงไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่แปลกแยกและไม่จำเป็นกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแม้แต่น้อย เพราะพื้นที่ภาคใต้นั้นมีทรัพยากรด้านต่างๆ อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ทั้งป่าไม้ ทรัพยากรในทะเล และพื้นที่การเกษตร และหากปล่อยให้ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ เกิดขึ้นในพื้นภาคใต้อีก ภาคใต้ก็จะมีสภาพไม่ต่างไปจากมาบตาพุด มีโลหะหนักปะปนในดินและน้ำ มีสารก่อมะเร็งปนมาในอากาศ ดังนั้นไม่ว่าจะมองในมิติใด โครงการอุตสาหกรรมหนักก็ไม่จำเป็นสำหรับพื้นที่ภาคใต้

ด้าน นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ชาวบ้านในละแวกนั้นก็ประสบปัญหาด้านสุขภาพและการดำรงชีวิต ตลอดมา โดยมีปัญหาด้านทางเดินหายใจ ปลูกผักไม่ขึ้น สัตว์เลี้ยงตาย ปลาตาย และรัฐไม่เคยมาเหลียวแลหรือแสดงความรับผิดชอบใดใดเลย

“ตอนนี้ชาวบ้านเลี้ยงวัวไม่ได้ เลี้ยงปลาในกระชังไม่ได้ เพราะประสบปัญหาน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ และมีแนวโน้มว่า อ.จะนะ กำลังเดินตามรอยมาบตาพุดไม่ผิดเพี้ยน ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านแล้ว ยังเกิดความแตกแยกในครอบครัวและชุมชน ระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการและผู้ที่คัดค้านโครงการอีกด้วย ด้วยบทเรียนที่ผ่านมา ชาวบ้าน อ.จะนะจึงไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ท่าเรือน้ำลึก และโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่อีก”

นางสุไรดะห์ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใน อ.จะนะ นั้น รัฐบาลในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร ระบุแค่เพียงว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ แต่โรงฟ้าในขณะนี้มีกำลังถึง 745 เมกะวัตต์ จึงเท่ากับว่า รัฐโกหกและขี้โกงประชาชนไปถึง 45 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ ก็ยังมีการยืนยันว่าจะสร้างเฉพาะโรงไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีโครงการอื่นๆ ตามมา แต่ในที่สุดแล้ว อ.จะนะ ก็มีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เพิ่มมาอีกโรงหนึ่ง ซึ่งรัฐไม่เคยถามประชาชนในพื้นที่เลยว่าอยากได้และจำเป็นกับวิถีชีวิตของชุมชนหรือไม่

ทั้งนี้ ล่าสุดปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวจะนะคือน้ำท่วมสูงมาก เนื่องมาจากการถมพื้นที่ป่าพรุระหว่างป่าชิงกับควนหัวช้าง นอกจากจะเป็นการปิดกั้นทางระบายน้ำในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการทำลายอาชีพและแหล่งทำกินของชาวบ้านด้วย เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีผัก มีปลา ให้ชาวบ้านเก็บกินและนำไปขายสร้างอาชีพได้ตลอดทั้งปี และตอนนี้รัฐก็ยังมีโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่สร้างเขื่อนในพื้นที่ ตอกย้ำการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนอีก

“ชาวจะนะโดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การออกมาเคลื่อนไหวตรงนี้นอกจากจะเกิดจากความเดือดร้อนที่เราได้รับโดยตรงแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย เราเชื่อว่าพระเจ้าสร้างทรัพยากรทุกอย่างขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่การดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ ดังนั้น การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ก็เท่ากับเป็นการทรยศต่อพระเจ้าด้วย” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ตนอยากจะฝากให้พี่น้องภาคใต้ทั้งหลายสามัคคีกัน อย่าแตกแยกกัน เราต้องแสดงพลังรักบ้านเกิด รักษาทรัพยากร ต่อต้านโครงการอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ถึงที่สุด”

ฝ่าย นางภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐได้จัดทำ “ผังประเทศไทย 2600” ขึ้น โดยมติคณัรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2545 กำหนดให้พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยพัฒนาและอนุมัติงบประมาณให้สอดคล้องกับ “ผังประเทศไทย 2600” ดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ว่า การพัฒนาต่างๆ นั้นต้องมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและท่อก๊าซรองรับอุตสาหกรรม ต้องมีนโยบายผันน้ำมาหล่อเลี้ยงโรงงานต่างๆ ในโครงการด้วย ซึ่งถ้าน้ำในประเทศไม่เพียงพอก็จะดึงน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้

“ผังประเทศไทย 2006 นี้ใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีประชาชนไปถึง 148.423 ล้านบาท ถามว่าประชาชนที่จ่ายภาษีให้กับรัฐทราบเรื่องดังกล่าว และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้มีการสร้างโครงการต่างๆ ก็ไม่ทราบและไม่มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ด้วย เพราะเขาจัดการประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ”

นางภารนี สวัสดิรักษ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ใน “ผังประเทศไทย 2600” นั้นได้พลิกแพลงข้อมูลบางส่วนด้วย โดยแต่เดิมกำหนดให้พื้นที่ที่จะสร้างอุตสาหกรรมนั้นเป็นเขตพื้นที่สีม่วง และเขตเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งเพราะปลูกพืชนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ปรากฏว่า ได้มีการหมกเม็ด ใช้สีเขียวในพื้นที่ที่กำหนดให้สร้างโครงการอุตสาหกรรม หลบเลี่ยงให้เข้าใจผิดว่าพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นมีน้อย แต่ความจริงแล้วได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลให้สร้างโรงไฟฟ้า โรงถลุงเหล็ก ในเขตพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมได้

“แต่ขณะนี้ ผังประเทศไทย 2600 นั้นยังอยู่ในระหว่างการผ่านร่างกฤษฎีกา เราจึงยังมีความหวังว่าจะยับยั้งสิ่งเหล่านี้ได้ โดยแสดงพลังของภาคประชาชนให้รัฐบาลเห็น ว่าไม่ต้องการโครงการอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่” นางภารนี กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ร่วมมือกันเป็นอย่างดี มีการบริจาคเงิน อาหาร น้ำดื่ม ตลอดจนเลี้ยงอาหารละศีลอดแก่พี่น้องมุสลิมที่มาร่วมงาน และมีการแสดงกิจกรรมต่างบนเวที อาทิ มโนราห์ หนังตะลุง ละครของนักศึกษา เพื่อความเพลิดเพลินของผู้ร่วมงาน ก่อนจะสรุปงานเดินหน้ากิจกรรมเคลื่อนไหวต่อไปในวันพรุ่งนี้
นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา





ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าสาขา วิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต





กำลังโหลดความคิดเห็น