ยะลา - คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ชี้เงินเยียวยาคนเสื้อแดงศพ 10 ล้านบาท กระทบความรู้สึก จวกอย่าสองมาตรฐาน บอกให้ลงมาดูในพื้นที่บ้าง ชี้ผลกระทบหนักกว่า มีทั้งหญิงหม้าย-เด็กกำพร้า ขณะที่นักวิชาการติงคำนึงถึงความรู้สึก ปชช.-เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เสียสละเพื่อชาติ
การเรียกร้องเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตของกลุ่มเสื้อแดง ศพละ 10 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เสียชีวิตเพื่อปฎิบัติ หน้าที่และรักษาบ้านเกิด แต่รัฐยังคงเยียวยาเพียงแค่รายละ 200,000-500,000 บาท เท่านั้น จึงขอให้พิจารณาอย่างรอบด้านต่อผลกระทบในข้อเสนอของคนเสื้อแดง
ภายหลัง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ (นปช.) จะขอให้รัฐบาลของเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ค.53 โดยให้ญาติผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 91 ศพ รายละ 10 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนอื่น ๆ และพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาประเทศชาติ ดูแลรักษาความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางรัฐบาลได้ช่วยเหลือเยียวยาเพียงรายละ 200,000-500,000 บาท เท่านั้น โดยต่างเห็นว่าถ้าหากรัฐบาล ได้ทำตามข้อเสนอของ นายจตุพร จะเกิดคำถามแก่ครอบครัวของผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ ไม่ว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ปฏิบัติหน้าที่ในภูมิภาคอื่นของประเทศ ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน จะเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบ 2 มาตรฐาน อย่างแน่นอน
นางสุดาพร จอมคำสิงห์ ภรรยาของ นายสนิท จอมคำสิงห์ อาสาสมัครรักษาดินแดน อ.เมืองยะลา ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยครู เหตุเกิดบนถนนสายทางลัดลำใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.53 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องขาดผู้นำครอบครัว ทั้งต้องดูแลแม่ที่แก่ชราเพียงลำพัง ระบุว่า การที่มีการเรียกร้องเงินเยียวยา ผู้ที่เสียชีวิต เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ที่กรุงเทพฯ รายละ 10 ล้านบาท มันสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และ ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกันได้ เพราะตนเองต้องสูญเสียผู้นำครอบครัว ส่วนที่กรุงเทพฯ เกิดจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 3 หวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากการดูแลปกป้องบ้านเมือง และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์ก็เกิดมาหลายปีแล้ว
นางสุดาพร กล่าวอีกว่า สำหรับเงินเยียวผู้ได้รับผลกระทบ ตนเองได้รับมาจำนวน 500,000 บาท ถ้าหากว่าทางกรุงเทพฯ เรียกร้องเป็นเงินรายละ 10 ล้านบาท ก็ไม่ยุติธรรมเอามากๆ ตนอยากให้ทางรัฐบาลลงมาดูแลพื้นที่บ้าง ว่าพื้นที่เป็นยังไง ซึ่งทุกวันนี้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนถูกทอดทิ้ง ทางรัฐบาลไม่เคยลงมาดูแลจริงๆเลย
ด้าน นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ในฐานะผู้นำศาสนาที่เฝ้ามองปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กล่าวว่า กรณีการชดเชยเงินแก่ผู้ที่เสียชีวิต หรือ ผู้เสียหายที่กรุงเทพฯ นั้น ในบัญญัติศาสนาอิสลาม ไม่ได้ระบุถึงค่าตัวราคาชีวิตมนุษย์ในการตายชดเชยด้วยราคาเท่าไร เพียงแต่บอกว่าชีวิตต่อชีวิต ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในกรณีผิดกฎหมายซารีอะห์ คือ ฆ่าเขา เมื่อถูกเขาฆ่า ตัดมือเขาเมื่อเขาตัดมือ มิได้กำหนดชดใช้ราคากี่บาท
ซึ่งเหตุการณ์ที่มีการชุมนุมที่กรุงเทพฯของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ มีการบาดเจ็บ พิการ และ ล้มตาย ก็ได้มีการเรียกร้องราคาผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ และ ผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องอำนาจ พลังของกลุ่มผู้เรียกร้อง หรือบุคคลในการต่อรองเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกลุ่มที่เขามี ถ้าหากรัฐบาลยอมชดใช้จากเหตุการณ์ที่อ้างทำเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องกำหนดมาตรฐานทั่วไปเป็นแนวปฏิบัติ โดยขอให้รวมเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปด้วย ผู้ที่ได้รับการชดเชยชดใช้แต่ละคนจะเปรียบเทียบความสมดุลพอดี การได้ที่มากกว่า การได้ที่น้อยกว่า ตั้งแต่การชดเชยชดใช้
ผู้นำศาสนาอิสลาม ท่านนี้ เห็นอีกว่า ในกรณีเหตุการณ์ ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เหตุการณ์การสลายการชุมนุม หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ถล่มมัสยิดไอร์ปาแย กรณีอิหม่ามยะผา เทียบเคียงกันได้หรือไม่ แม้เหตุการณ์ในอดีตแต่ก็ยังฝังใจ และยังเป็นเงื่อนไขสู่ปัจจุบัน ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ยังไม่จบ ในปัจจุบันชาวบ้านที่อาสาทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น อส. อรบ. ชรบ. ข้าราชการ พนักงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานต่างๆที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับบาดเจ็บ พิการ และ เสียชีวิต อ้างได้ว่าเกิดจากกรณีเหตุการณ์ปกป้องบ้านเมือง ที่ได้รับการชดเชย ชดใช้ เทียบเคียงได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ คือ หญิงหม้าย จากเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 2,295 คน เด็กกำพร้า กว่า 4,455 คน และกลุ่มผู้ที่ต้องใช้จิตเวช จิตบำบัด ทั้งที่ได้รับการช่วยบ้างแล้วและถูกทอดทิ้ง เขาเหล่านั้นจะคิดอย่างไร ญาติมิตรของบุคคลเหล่านั้นคิดต่อไปว่า การชดเชย การชดใช้ในครั้งนี้ จะสามารถครอบคลุมผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ และจะเป็นเงื่อนไขใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
ส่วน ผช.ศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ตนเองอยากให้คำนึงถึงมาตรฐาน วันนี้มีการเรื่องร้องแบบ 2 มาตรฐาน ถ้าหากว่าจะมีการทำสักที่หนึ่ง เช่น ราชประสงค์ในกรุงเทพฯ รัฐบาลก็ต้องกลับมามองในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า คนเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เกิดการสูญเสีย เช่นกัน มีการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อส. อรบ. ชรบ. พลเรือน ครู และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องได้รับมาตรฐานเดียวกันกับในกรุงเทพฯ ได้รับ
เพราะฉะนั้นตนเองอยากให้คำนึงถึงพี่น้องประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะต้องยืนหยัดต่อสู้ปกป้องอธิปไตยเรื่องของแผ่นดินที่ต้องเสียสละชีวิต เพื่อทำหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทย คนเหล่านี้ต้องได้รับเหมือนกับคนกรุงเทพฯเรียกร้องเช่นกัน เป็นอย่างน้อย ถ้าหากในส่วนของคนกรุงเทพฯได้มากขึ้น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการสูญเสีย ก็ควรจะได้รับเป็นมาตรฐานในส่วนเดียวกันกับกรุงเทพฯ สิ่งที่ตามมาคืออยากให้ไปมองที่ระบบและขั้นตอนของการเยียวยา
คณบดีคณะมนุษยฯ กล่าวอีกว่า ตนกลัวว่า กระบวนการเหล่านี้จะเป็นประเด็นทางการเมือง ถ้าหากมีระบบที่ชัดเจน หรือมีขั้นตอนที่มีความชัดเจน เรื่องราวต่างๆ ก็จะไม่มีปัญหา และจะสามารถตอบกับสังคมได้ วันนี้ประเทศไทยคนไทยได้ให้โอกาสแก่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ให้โอกาสนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งทางรัฐบาลเองก็จะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ถ้าหากผู้เสียชีวิตที่ราชประสงค์ได้รายละ 10 ล้านบาท พี่น้องประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้เงินชดเชยช่วยเหลือเยียวยา 200,000-500,000 บาท ตามระบบ ระเบียบราชการ ตนเองคิดว่าไม่ยุติธรรม
“จึงใคร่วิงวอนให้ทางรัฐบาล มีความรอบคอบในเรื่องนี้ และคำนึงถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มาก ในวันนี้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่าย ที่รักบ้าน รักเมือง ครอบครัวต้องมีการสูญเสียผู้นำ สูญเสียอะไรอีกหลายๆอย่าง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แต่พี่น้องประชาชน และทหาร ตำรวจ อส. ชรบ. อรบ.ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีภาพที่ชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์ คือ การปกป้องแผ่นดินไทย รักษาความสงบสุข ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องคำนึงในส่วนนี้ให้มาก” ผช.ศ.ดร.สมบัติ ระบุ