xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.4 น้อมนำพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ แก้ปัญหา 3 จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4
ยะลา - แม่ทัพภาคที่ 4 น้อมรับพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งการดูแลป่าไม้

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน น้อมรับพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงขอความร่วมมือจากรัฐบาล และคนไทยทั้งชาติ ในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และได้ทวีมีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องยาบ้า และ ในเรื่องการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ในเรื่องของป่าไม้ พระองค์ท่านมีความห่วงใยต่อพสกนิกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องประสบกับปัญหาการก่อความไม่สงบ และทรงมีกระแสรับสั่งให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดการสูญเสียของพระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ครู ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่า

พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้น้อมรับพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำหนดงานตามโครงการพระราชดำริกว่า 300 โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ทั้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ไปจนถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะมีองค์ประกอบในหลายๆ ด้าน ขณะนี้ประชาชนได้รับผลจากการที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ทำไปบ้างแล้ว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

สำหรับพระราชเสาวนีย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของยาเสพติดนั้น เดิมได้มีโครงการที่มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว มีการร่วมการปฏิบัติงานกับ ปปส.ภาค 9 ในที่จะป้องกันปราบปราม ในส่วนการป้องกันภัยยาเสพติด มีการจัดโครงการไว้ด้วยกันทั้งหมด 2 โครงการ คือ โดยเน้นให้ชุมชนได้มีบทบาท และหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือทางภาครัฐ ในชื่อ โครงการมัสยิดสานใจ ป้องกันภัยยาเสพติด ควบคู่กับ โครงการวัดสานใจ ป้องกันภัยยาเสพติด ในจำนวน กว่า 2,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา

โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ จำนวน 625 มัสยิด และวัดอีกประมาณ 100 วัด ซึ่งในขณะนี้ จากการที่ได้ประเมินผล ในชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน และประชาชน มีผลออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะสามารถที่จะป้องกันภัยยาเสพติดได้ ซึ่งประชาชนในชุมชน และชุมชน เป็นผู้ดูแลกันเอง

โครงการญาลันนันบารู เป็นการดึงเยาวชนในพื้นที่ และ ผู้นำศาสนา ชุมชน หมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามามีส่วนร่วมอบรมทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติด เพื่อเป็นเกราะในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ส่วนในเรื่องของภัยแทรกซ้อน ที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้มีการกวดขัน เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น อาจจะมีความถี่มากขึ้น เพราะว่าผู้ที่ต้องการผลประโยชน์ มักจะสนับสนุนเงินทุนให้กับคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปก่อเหตุร้ายเพื่อที่จะสามารถค้าขายยาเสพติด และน้ำมันเถื่อนมากยิ่งขึ้น

โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน 4 ส่วนหน้า ได้มีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงพี่น้องประชาชนในการดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งจากพื้นที่ทั้งหมด 2,000 กว่าหมู่บ้าน พื้นที่ ที่มีปัญหาอำนาจรัฐแทรกซ้อน อยู่ประมาณ 100 กว่าหมู่บ้าน พื้นที่ที่มีการการจัดตั้งแนวความคิด หรือหลักคำสอนที่ไม่ถูกต้อง รวมแล้วกว่า 309 หมู่บ้าน

ส่วนที่เหลืออีกกว่า 1,600 หมู่บ้าน พี่น้องประชาชนได้ไห้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด โดยกลุ่มผู้ที่มีความคิดผิด หลงผิด พยายามที่จะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ที่พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนพยายามอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น และปรับความเข้าใจในส่วนต่างๆ ให้ถูกต้อง ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพื้นที่

ส่วนการบุกรุกพื้นที่ป่าในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เราได้ทำโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ทั้งการจัดทำฝาย การปลูกป่า อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการปราบปรามก็ได้มีมาตรการการดำเนินการที่ถูกต้องมาโดยตลอด ในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา ทำให้พี่น้องประชาชนในระดับรากหญ้า ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง และอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทางเจ้าหน้าที่ ได้มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชาวบ้าน รวมทั้งได้มีการจัดหาอาชีพที่เหมาะสม ในโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่ ให้กับพี่น้องประชาชนได้มีการประกอบอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ด้านการดูแลเป้าหมายอ่อนแอ เช่น พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ครู ประชาชน ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการประสานการทำงานกับทางสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยครู ทั้งในโรงเรียน ระหว่างเส้นทาง ไป - กลับมาโดยตลอด เพื่อเป็นลดช่องว่าง การเข้ามาก่อเหตุทำร้ายครูในพื้นที่

สำหรับพระสงฆ์ ก็เช่นเดียวกัน มีการดูแลรักษาความปลอดภัย ตลอดเส้นทาง ของการออกบิณฑบาต ส่วน ผู้นำศาสนา มีการดูแลรักษาความปลอดภัยขณะที่มีการประกอบศาสนากิจต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น