xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.แจงเปล่ากว้านซื้อที่ดินหัวไทรสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ -กฟผ.แจงไม่ได้กว้านซื้อที่ดินหัวไทรและที่อื่นๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ส่วนการตั้งงบลับ 30 ล้านบาทให้อบต.ในพื้นที่ ก็ืทำไม่ได้ เพราะกฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องผ่านการตรวจสอบการใช้เงินกระทรวงการคลัง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

จากกรณีที่ นสพ. ASTV ผู้จัดการรายวันและออนไลน์ ได้เสนอข่าว “กฟผ. กว้านซื้อที่หัวไทรกว่า 2 พันไร่ที่ ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ตั้งงบลับไว้ 30 ล้านบาท อัดฉีดให้ อบต. 5 แห่งในพื้นที่เป้าหมาย โดยทำเป็นโครงการขึ้นมาเสนอและอนุมัติให้ไปโดยไม่มีการตรวจสอบ

นางยุวดี ธงสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ สารสนเทศและการผลิตสื่อ ทำการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อมูลผ่านเอกสารในกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. กฟผ. ขอยืนยันว่ายังมิได้เข้าไปดำเนินการเรื่องการซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากขณะนี้การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ยังอยู่ในขั้นตอนการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงกับประชาชนจนกว่าจะเกิดการรับรู้และมีความเข้าใจในโครงการฯ

ทั้งนี้ กระบวนการจัดหาที่ดินของ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะต้องดำเนินการโดยเปิดเผยและสามารถตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินได้

2.กรณีการตั้งงบลับ 30 ล้านบาท กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะต้องได้รับการตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอย่างเข้มงวด จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน และที่ผ่านมาผู้บริหาร กฟผ. ยืนยันว่ายังมิได้มีนโยบายในการให้ อบต. จัดทำโครงการเสนอ กฟผ. แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กรณีที่กล่าวถึงเงินที่ชุมชนจะได้รับนั้น อาจมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากการที่ กฟผ. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินที่ชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะได้รับ ในรูปแบบกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งโรงไฟฟ้าทุกแห่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ขาย/ปี

ดังนั้น หากเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 112 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาพัฒนาชุมชน โดยการบริหารของคณะกรรมการชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้ามุ่งดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอ โดยให้ความสำคัญกับความต้องการและผลกระทบต่อประชาชนในทุกๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น