ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ลุยเปิดเวทีถกหาทางออกกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลงสำรวจพื้นที่ “โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่” หลังชาวบ้าน 38 ครอบครัวใน อ.สะเดา จ.สงขลา ร้องเรียนว่าทับที่ดินทำกินถึง 720 ไร่ แถมยังถูกระงับการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เผยแนวโน้มอาจจะจบลงด้วยการจ่ายผลอาสินอย่างยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับได้ของชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เป็นประธานการการประชุมรับฟังข้อชี้แจงระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง กรณีชาวบ้าน ม.7 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างด่านชายแดนสะเดาแห่งใหม่ ไทย-จังโหลน ตามมติ ครม. ร้องเรียนว่าพื้นที่ 720 ไร่ที่ต้องการใช้ตั้งด่านชายแดนแห่งใหม่นั้น ได้ทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านถึง 38 ครอบครัว ซึ่งขณะนี้ยังถูกระงับการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมดด้วย
สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายบุญเทียม โชควิวัฒน นายด่านศุลกากรสะเดา นายกำพล ภาคสุข ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสงขลา นายเกชา เบ็ญจคาร นายก อบต.สำนักขาม และผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนฝ่ายชาวบ้านเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมรวมกว่า 20 คน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรสะเดา
นายด่านศุลกากรสะเดา ระบุสาเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวในการก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ว่า ศุลกากรมีแนวคิดที่จะแยกด่านขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และด่านเพื่อการท่องเที่ยวออกจากกัน เช่นเดียวกับด่านชายแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งนี้ด่านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ที่ใกล้แล้วเสร็จนั้น จะเน้นการท่องเที่ยว สินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลเป็นหลัก อันเป็นไปตามข้อตกลงในกรอบการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ไทย-มาเลเซีย (JDS) ส่วนด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่ต้องการสร้างนั้นเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่
ทั้งนี้ แต่เดิมการขนส่งสินค้าใช้ด่านศุลกากรสะเดาที่เปิดใช้อยู่ในขณะนี้เพียงเส้นทางเดียว จึงก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง และส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทางประเทศมาเลเซียได้มีแผนโครงการขยายพื้นที่ด่านศุลกากรและสร้างถนนมอเตอร์เวย์รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมายังไทย ตรงกับบริเวณที่เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เน้นย้ำเรื่องการจ่ายค่าอาสินที่เป็นธรรมแก่เจ้าของพื้นที่ โดยให้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน และพิจารณาเป็นพิเศษเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้อาจมีอัตราค่าอาสินหลายเกณฑ์ตามอายุของพืชผลการเกษตร และบริบทแวดล้อมของชาวบ้านแต่ละราย
นายเกชา เบ็ญจคาร นายก อบต.สำนักขาม กล่าวว่า ควรตรวจสอบสิทธิ์การครอบครองที่ดินของชาวบ้านแต่ละรายให้ถี่ถ้วนด้วย ตามที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินระบุว่า 1 คน สามารถครอบครองที่ดินได้ไม่เกิน 50 ไร่ ตนเห็นว่าผู้ที่ครอบครองเกินจำนวนที่กำหนดนี้ไม่สมควรได้รับค่าอาสิน เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขการถือครองที่ดินที่กำหนดไว้ ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวจะช่วยคัดกรองด้วยว่ามีผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริงกี่ราย
ด้าน นางชุลีกร ดิษโสภา ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน กล่าวว่า เดิมตนมีที่ดินในบริเวณ ต.สำนักขามอยู่ 15 ไร่ ก่อนถูกเวนคืนเพื่อใช้วางท่อก๊าซไทย-มาเลเซียไป 2 ไร่ ขณะนี้เหลือ 13 ไร่ ซึ่งรวมอยู่ในพื้นที่จำนวน 720 ไร่ ที่จะทำการสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ทั้งหมด หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ ตนก็จะไม่เหลือที่ดินทำกินเลย ทั้งนี้ตนมีความเห็นว่า หากการใช้พื้นที่ดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาลแก่รัฐจริง รัฐก็สมควรทุ่มงบประมาณจ่ายค่าอาสินให้เหมาะสมกับประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 นั้น ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่สามารถออกให้แก่ชาวบ้านได้ เนื่องจากกรมศุลกากรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขอให้ระงับการออกเอกสารดังกล่าวไว้ก่อน ด้วยเกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากในการเจรจาและจ่ายค่าอาสินในที่ดินชาวบ้านดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังการประชุม นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เดินทางสำรวจพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างด่านชายแดนดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการประชุมสรุปงานที่จะจัดขึ้นต่อไป