xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงจ้างที่ปรึกษาออกแบบแก้จราจรติดขัดแยกบางคู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -กรมทางหลวงจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา สำรวจออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ที่บริเวณสามแยกบางคู หวังแก้ปัญหาจราจรติดขัด

วันนี้ (9 ส.ค.) นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) การสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) กับ ทางหลวงหมายเลข 402 (ทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต) ซึ่งกรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ที.พี.เอฟ.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขตขั้นตอนการศึกษาของโครงการ และแนวทางการดำเนินของโครงการ รวมถึงด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลโครงการ และให้ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ โดยมีผู้บริหารกรมทางหลวง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

นายเกษม ศรีวรานันท์ วิศวกรใหญ่ด้านการสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) กม.8+211 กับทางหลวงหมายเลข 402 (ทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต) กม.0+000 หรือสามแยกบางคู

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบจัดการให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ที.พี.เอฟ.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในวงเงินประมาณ 8-10 ล้านบาท ทำโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) กับ ทางหลวงหมายเลข 402 (ทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต) โดยใช้เวลาดำเนินการ 300 วัน ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2553 - วันที่ 29 มีนาคม 2554 เพื่อช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบทางหลวงและสนับสนุนโครงการ

เบื้องต้นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอทางเลือกเบื้องต้น 3 แนวทาง ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 (Y-Type) เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมสำหรับสามแยกที่มีช่องทางต่อเชื่อมกึ่งตรง โดยจะมีส่วนโครงสร้างยกข้ามกระแสจราจรสองระดับ กำหนดให้ทิศทางเลี้ยวขวาจากสนามบินภูเก็ตไปทางเลี่ยงเมือง เป็นโครงสร้างยกระดับขนาด 2 ช่องจราจร และรถเลี้ยวขวาจากทางเลี่ยงเมืองเข้าตัวเมืองภูเก็ตเป็นโครงสร้างยกระดับขนาด 1 ช่องจราจร มีความเหมาะสมหากปริมาณจราจรของทั้งสองทิศทางมีปริมาณใกล้เคียงกัน

รูปแบบที่ 2 (Trumpet Type) เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากสำหรับสามแยกเป็นรูป T-Type ที่มีช่องทางต่อเชื่อมวน (Loop Ramp) มีลักษณะช่องจราจรสำหรับรถเลี้ยวขวาเป็นโครงสร้างยกข้ามช่องทางรถผ่านตรง กำหนดให้รถในทิศทางเลี้ยวขวาจากทางเลี่ยงเมืองเข้าตัวเมืองภูเก็ต คาดว่าจะมีปริมาณจราจรน้อยกว่าให้ผ่านช่องทางต่อเชื่อมวน 1 ช่องจราจร และทิศทางรถเลี้ยวขวาจากสนามบินภูเก็ตไปทางเลี่ยงเมือง คาดว่า จะมีปริมาณรถมากกว่าให้ผ่านช่องทางต่อเชื่อมตรง ขนาด 2 ช่องจราจร เพื่อให้รถสามารถใช้ความเร็วได้สูง เหมาะกับการให้บริการจราจรที่มีปริมาณรถผ่านตรงในระดับต่ำถึงปานกลาง มีพื้นที่จำกัดในมุมใดมุมหนึ่ง ใช้พื้นที่ก่อสร้างพบสมควร แต่ค่าก่อสร้างต่ำกว่าแบบ Y-Type

รูปแบบที่ 3 (สะพานข้ามแยก) เป็นการกำหนดให้เส้นทางที่มีปริมาณจราจรมาก คือ เส้นทางเลี้ยวขวาจากถนนเทพกระษัตรีเข้าถนนเลี่ยงเมืองภูเก็ตเป็นถนนระดับดิน และก่อสร้างสะพานตามแนวถนนเทพกระษัตรีเป็นสะพานข้ามทางแยกขนาด 4 ช่องทางจราจร ส่วนรถจากถนนเลี่ยงเมืองภูเก็ตที่จะเลี้ยวขวาเข้าเมืองภูเก็ต ที่มีปริมาณค่อนข้างน้อยให้เลี้ยวซ้ายและไปกลับรถเพื่อเข้าเมืองภูเก็ต หรืออาจจะใช้บริหารสัญญาณไฟจราจรที่บริเวณทางแยก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาปริมาณการจราจรบริเวณทางแยก

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ภาพรวมสรุปว่า ไม่ต้องการที่จะให้ก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับ เพราะจะเป็นการทำลายทัศนียภาพของเมืองท่องเที่ยว ควรนำเสนอทางเลือกที่เป็นลักษณะทางลอดมากกว่านี้ และควรที่จะศึกษาไปจนถึงบริเวณแยกเกาะแก้ว เพราะเป็นจุดที่มีปัญหาจราจรติดขัดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งช่วงเช้าและเย็น รวมทั้งควรที่การศึกษาการเพิ่มเส้นทางจราจรเข้าออกตัวเมืองภูเก็ตเพิ่มเติม และการแก้ปัญหาไม่ควรจะทำเพียงจุดใดจุดหนึ่งแต่ควรมองปัญหาทั้งระบบ

นายเกื้อเกียรติ จิตต์เกื้อ นายก อบต.เกาะแก้ว กล่าวว่า บริเวณจุดตัดแยกบางคูนั้น หากจะพิจารณาปัญหาติดขัดการจราจรแล้ว คิดว่า น่าจะน้อยกว่าบริเวณตลาดเกาะแก้ว ซึ่งมีสัญญาณไฟจราจรโดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็น ดังนั้น น่าจะมีการศึกษาให้ครอบคลุมถึงจุดดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการสร้างเป็นสะพานยกระดับ แม้ว่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่า เพราะจะทำให้ทำลายทัศนียภาพ และควรที่จะศึกษาเรื่องของระบบรางในลักษณะของขนส่งมวลชน เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ค่อนข้างมาก และน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น