ศูนย์ข่าวภูเก็ต- คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ติดตามการดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ต ติงที่นั่งผู้โดยสารไม่เพียงพอ และแออัดจากที่การท่าฯนำพื้นที่ไปจัดสรรเป็นร้านค้าจำนวนมาก
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นำโดยนางภารดี จงสุขธนามณี กรรมาธิการ และประธานอนุกรรมาธิการด้านคมนาคมอากาศยาน วุฒิสภา ประชุมติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ต โดยมีนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา นางดวงใจ คอนดี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วยผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ชี้แจงเกี่ยวกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตมีเนื้อที่ประมาณ 1,382 ไร่ มีทางวิ่งยาว 3,000 เมตร มี 23 หลุมจอด รองรับอากาศยานขึ้น-ลงได้ชั่วโมงละ 20 ลำอาคารผู้โดยสาร เป็นอาคาร 3 ชั้น พื้นที่ 32,500 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 6.5 ล้านคน มีพื้นที่ที่จอดรถ พื้นที่ 24,863 ตารางเมตร จอดรถส่วนบุคคลได้ 366 คันและจอดรถบัสได้ 77 คัน อาคารคลังสินค้า พื้นที่ 6,950 ตารางเมตร รับสินค้าได้ปีละ 36,500 ตัน
ปริมาณการจราจรทางอากาศเปรียบเทียบระหว่างปี 2552 กับปี 2553 พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 28% โดยมีเที่ยวบินขึ้นลงประมาณ 46,000 เที่ยว ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารซึ่งผ่านสนามบินเทียบระหว่างปี 2552 กับปี 2553 พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 24% โดยมีจำนวน 4.7 ล้านคน มีสายการบินจำนวน 36 สายการบินเป็นสายการบินประจำ 31 สายการบินและเช่าเหมาลำ 5 สายการบิน จำนวน 60 เมือง 23 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความแออัดของผู้ใช้บริการและเกินขีดความสามารถที่มีอยู่ จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตปี 2552-2556 เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสามารถที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 และมีหลุมจอดเพิ่มขึ้น จาก 15 หลุมจอด เป็น 25 หลุมจอด
ทั้งนี้ มีงานที่จะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย กลุ่มงานที่ 1 ออกแบบทางขับและลานจอดและขยายระบบเติมน้ำมันอากาศยาน กลุ่มงานที่ 2 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ กลุ่มงานที่ 3 ก่อสร้างอาคารจอดรถ และสำนักงาน ทภก.ก่อสร้างอาคารทดแทน และกลุ่มงานที่ 4 ก่อสร้างระบบถนนและสาธารณูปโภคภายในท่าอากาศยาน ก่อสร้างระบบถนน และสาธารณูปโภคภายในท่าอากาศยาน ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำโครงการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การเพิ่มจำนวนที่พักรอของผู้โดยสาร เป็นต้น
หลังจากที่ทางคณะกรรมาธิการ ได้รับฟังบรรยายสรุปแล้ว ได้มีการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง เช่น การเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้มากขึ้น และควรลดจำนวนร้านค้าที่มีจำนวนมากเกินไป ปัญหาหลุมจอดสำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำที่มีไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง น้ำเสีย หรือขยะ ปัญหาการจราจรภายในท่าอากาศยานและภายนอก
ปัญหารถให้บริการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง การจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมที่ควรจะมีความต่อเนื่องและสร้างสรรค์ การชี้แจงข้อมูลของโครงการให้กับประชาชนในชุมชนได้รับทราบ การเพิ่มรันเวย์ การออกแบบอาคารใหม่ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐ ประชาชนและเอกชนได้มามีส่วนร่วมด้วย เป็นต้น
นางภารดี จงสุขธนามณี กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการด้านคมนาคมอากาศยาน วุฒิสภา กล่าวว่า ในบางประเด็นที่เป็นปัญหา ในส่วนของการท่าฯภูเก็ต ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ เนื่องจากการบริหารจัดการจะเป็นการสั่งการมาจากส่วนกลาง เมื่อกลับไปกรุงเทพฯ แล้วจะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจงอีกครั้ง เพราะจากข้อปัญหาต่างๆ ที่ได้รับทราบพบว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างวิกฤตสำหรับภูเก็ต โดยเฉพาะความแออัดของสนามบินซึ่งปัจจุบันเกินขีดความสามารถที่มีอยู่ และจะรายงานผลมาให้ทางจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบด้วย