ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มอ.ปัตตานีประสานมือสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดสัมมนาวรรณกรรมระดับชาติ “วรรณกรรมใต้-มลายู-ไทย : สถานะและบทบาทนักเขียนท้องถิ่นภาคใต้บนเส้นทางพัฒนาการของวรรณกรรมหลัง 14 ตุลาคม 2516” โดยจะมีทั้งศิลปินแห่งชาติ กวีซีไรต์ นักเขียนซีไรต์ รวมถึงกองทัพกวี นักเขียนและนักวิชาการสายเลือดสะตอเข้าร่วมมากมาย
ดร.พิเชฐ แสงทอง อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29-30 ก.ค.นี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้ร่วมกับกองทุนวรรณกรรมไทย-มลายู โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐแห่งเอเชียตะวันเฉียงใต้ศึกษา มอ.ปัตตานี, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, วารสารรูสมิแล, ซีพีออลล์ และไทยแอร์เอเชีย จัดโครงการสัมมนาระดับชาติเรื่อง “วรรณกรรมใต้-มลายู-ไทย : สถานะและบทบาทนักเขียนท้องถิ่นภาคใต้บนเส้นทางพัฒนาการของวรรณกรรมหลัง 14 ตุลาคม 2516” ณ ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลาม มอ.ปัตตานี
โดยการสัมมนาระดับชาติครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่ในวันแรก (29 ก.ค.) ประกอบด้วย รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนง จะปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลังวรรณศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล : มองจากวรรณกรรมภาคใต้” ตามด้วยการอภิปราย “รากเหง้า อัตลักษณ์ และสีสันท้องถิ่นในงานเขียนของนักเขียนชายแดนภาคใต้” นำอภิปรายโดย อ.ชาตรี สำราญ นักเขียน, บาบอหะมิดิง สานอ กวี/นักเขียน, ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ปี 2553, ดร.อับดุลรอยะ ปาแนมาแล จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ดร.พิเชฐ แสงทอง จาก มอ.ปัตตานี
จากนั้นเป็นการอภิปราย “รากเหง้า อัตลักษณ์ และสีสันท้องถิ่นในงานเขียนของนักเขียนภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง หลัง 14 ตุลาคม 2516” ผู้นำอภิปรายประกอบด้วย อ.สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ นักเขียนซีไรต์ปี 2530, มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550, ดร.วิมลมาศ ปฤชากุล จาก มอ.ปัตตานี ดำเนินรายการโดย บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนซีไรต์ปี 2548
และปิดท้ายวันแรกด้วยการอภิปรายทั่วไปเรื่อง “รากเหง้า อัตลักษณ์ และสีสันท้องถิ่นภาคใต้หลัง 14 ตุลาคม 2516” นำอภิปรายโดย อ.ประมวล มณีโรจน์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, พันธกานท์ ตฤณราษฎร์, รัตนชัย มานะบุตร, วิน วนาดร สฤษดิ์ ผาอาจ, โสภณ อักษรเนียม, ยงยุทธ ชูแว่น, อัตถากร บำรุง, ขวัญยืน ลูกจันทร์, นฆ ปักษนาวิน, จเด็จ กำจรเดช, อภิชาติ จันทร์แดง และผู้เข้าร่วมสัมมนา ดำเนินรายการโดย อ.จรูญ หยูทอง และ อ.เกษม จันทร์ดำ
ในส่วนของการสัมมนาวันสุดท้าย (30 ก.ค.) จะเป็นการนำคณะนักเขียน/กวี และผู้เข้าร่วมออกภาคสนามในช่วงเช้า ก่อนที่ช่วงบ่ายจะล้อมวงอภิปรายทั่วไปเรื่อง “มุมมองและความคิด : สภาพการณ์ปัตตานีในฐานะแหล่งข้อมูลวรรณกรรม” นำอภิปรายโดย กนกวลี พจนปกรณ์, บินหลา สันกาลาคีรี, สมคิด ทองสง, พินิจ นิลรัตน์, นพดล ปรางค์ทอง, นรีภพ สวัสดิรักษ์, แสงทิวา นราพิชญ์, ขวัญยืน ลูกจันทร์, อับดุลรอยะ ปาแนมาแล, ธีระ จันทิปะ และผู้ร่วมออกภาคสนาม ท้ายสุดของรายการเป็นการสรุปการสัมมนาโดยนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย