ตรัง - “แปลนทอยส์” ผู้ผลิตและส่งออกของเด็กเล่นจากไม้ยางพาราชื่อดัง ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะอาจจะกระทบต่อพื้นฐานการผลิต ขณะที่ผู้ใช้แรงงานก็กังวลว่าต้องถูกเลิกจ้าง
นายวิมล วิริยะพรสวรรค์ กรรมผู้จัดการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของเด็กเล่นจากไม้ยางพาราชื่อดังในนาม “แปลนทอยส์” กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งระบบ และยังทำให้โอกาสในการแข่งขันในเวทีตลาดโลกกับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน และเวียดนาม ลดน้อยลงไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ เอง หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300บาท ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าจ้างแรงงานใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวันไร้ฝีมือ จากเดิมที่ได้รับวันละ 200 บาท ก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นทันที 30% ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อิงกับค่าแรงงาน เช่น เงินประกันสังคม และสวัสดิการต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามค่าแรงไปด้วย และจะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 30 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดปรับขึ้นตามไปด้วย และถ้าหากจำหน่ายในราคาที่สูงเกินไป ก็จะทำให้โอกาสในการแข่งขันในตลาด รวมทั้งปริมาณการผลิตและการส่งออกน้อยลงตามไปตามปัจจัยดังกล่าว
ปัจจุบันบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ มีออเดอร์จากการผลิตของเด็กเล่นปีละ 2.5 ล้านชุด เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทอยู่ที่ปีละ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 544 ล้านบาท โดยอยู่ในระดับที่คงที่ ซึ่งมีปัจจัยมาจากสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับบริษัทคู่แข่งสำคัญอย่างจีน และเวียดนาม เข้ามาแข่งขันและแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปร้อยละ 30-40 ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้มีการวางแผนปรับตัวรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการหาเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคน โดยในแต่ละปีมีเป้าหมายที่จะปรับลดแรงงานคนร้อยละ 20 เพื่อลดภาระค่าแรงงานลง และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิต
นางอรอุมา จั่นแค้น อายุ 35 ปี หนึ่งในลูกจ้างของบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ กล่าวว่า ตนทำงานที่นี่มา 4 ปีแล้ว ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 208 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท ก็ยังกังวลว่า จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย และผลกระทบที่จะตามมาก็ไม่มั่นใจว่านายจ้างหรือสถานประกอบการ จะสามารถแบกรับภาระค่าจ้างที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ถ้าหากรับไม่ไหวก็อาจจะมีการปลดคนงานออก เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ซึ่งหากมีการปลดคนงานออกจริงๆ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาการว่างงานมีมากขึ้น และกลายเป็นภาระของสังคม