ปัตตานี - กรมสุขภาพจิตจัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ ปี2554 “พร้อมรับมืออย่างไรกับภัยพิบัติ” พร้อมกับมอบรางวัลแก่ผู้มีผลงานวิชาการดีเด่นเป็นขวัญกำลังใจ
วันนี้ (7 ก.ค.) ผู้สื่ข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ร่วมกับสถาบันกัลป์ยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ ประจำปี 2554 เพื่อให้อาจารย์และผู้สนใจงานด้านสุขภาพจิตในภาวะวิกฤต ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เข้าร่วมจำนวน 200 คน ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช สงขลา
นายแพทย์จุมพต พรมสีดา ผอ.รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ มีแนวโน้มเกิดเหตุการณ์มากขึ้น และเพิ่มขนาดความรุนแรง จากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และเป็นความรุนแรงที่คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิด หรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น เหตุการณ์โคลนถล่มที่ อ.กระทูน จ.นครศรีธรรมราช การเกิดคลื่นสึนามิ ปี 2547 คลอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ เกิดอุทกภัยที่รุนแรงเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ปี 2553-2554
นอกจากนี้ยังมีภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น กรณีเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์วิกฤตทางการเมือง หรือกรณีชายแดนไทย-เขมร ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ได้ส่งผลกระทบในทุกด้าน ทั้งบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม เศรษฐกิจ และปัญหาด้านสุขภาพจิต จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ซึ่งมีหลักการสำคัญของการนำไปสู่การปฏิบัติ ได้มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีการเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติทั้งธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ตั้งแต่ในภาวะปกติ ตลอดจนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีในทุกสถานการณ์
ภายในงานมีการบรรยายทางวิชาการ การอภิปรายกลุ่ม และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ และได้มีการมอบรางวัลผลงานวิชาการต่างๆ อาทิ ประเภทงานวิจัย ชนะเลิศได้แก่ งานวิจัยเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าคู่สมรสแล้วฆ่าตัวตายตาม โดยคุณวรวรรณ จุฑา และคุณกมลวรรณ จันทรโชติ จากกรมสุขภาพจิต รองชนะเลิศ ได้แก่งานวิจัยเรื่อง การศึกษาความชุก ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันที่เกี่ยวข้องของโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันอันตราย หลังอุทกภัยที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี จาก รพ.สวนสราญรมย์
ประเภทงานพัฒนาประจำ ชนะเลิศได้แก่ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกับเครือข่ายชุมชนผ่านอินเทอร์เน็ต ของคุณจิรศักดิ์ ประจงบัว และคณะ จาก รพ.จิตเวชสระแก้ว รองชนะเลิศ ได้แก่ เยียวยาที่พอเพียง ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอ ของคุณนภาลัย ดือราแม จาก รพ.โคกโพธิ์
ประเภทเล่าเรื่อง ชนะเลิศได้แก่เรื่อง การถอดบทเรียนจากบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ จ.สุราษฎร์ธานี รองชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มเฉพาะกิจบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ โดย พญ.ริชาพรรณ เอกอุรุ จาก รพ.สวนสราญรมย์