ศูนย์ข่าวภูเก็ต- สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต ผลักดันนครภูเก็ต เป็นต้นแบบ "เมืองแห่งอาหาร" ในเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO
ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) โครงการส่งเสริมผลักดันให้ภูเก็ตเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO ระหว่างเทศบาลนครภูเก็ต โดยนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายชัยพฤกษ์ พันธ์พฤกษ์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยนางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และนางสาวศิริพรรณ ทองเจิม ผู้อำนวยการศูนย์หอศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยมีฝ่ายบริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ เทศบาลนครภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีความโดดเด่นทั้งทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต มีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
ที่สำคัญภูเก็ต ยังได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของอาหารที่แสดงถึงวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาแต่อดีต บนความกลมกลืนของเชื้อชาติที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งอาหารที่หลากหลาย และผสมกลมกลืนกันจนกลายเป็นอาหารท้องถิ่นรสชาติอร่อย และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต โดยใช้วัตถุดิบของพื้นถิ่นเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น อาหารจีนสไตล์ฮกเกี้ยน อาหารอิสลาม อาหารพื้นบ้านแบบปักษ์ใต้ อาหารไทยภาคกลาง ภาคอีสาน และอาหารฝรั่งอันลือชื่อ ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเกาะ จึงทำให้ภูเก็ตยังมีชื่อเสียงในเรื่องอาหารทะเลที่สด สะอาด
นอกจากนี้แล้ว ด้วยความมีอัธยาศัยและความเป็นมิตรไมตรีของคนภูเก็ต ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองภูเก็ตสามารถก้าวถึงความเป็น City of Gastronomy ของ UNESCO
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงให้ความสำคัญและคัดเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบนำร่องในการผลักดันให้เป็นเครือข่ายเมืองแห่งอาหาร ของ UNESCO เพื่อให้ภูเก็ตได้นำวัฒนธรรม ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมต่อยอด ให้ได้รับการยอมรับและกล่าวขานมากขึ้น ส่งผลสู่การเป็นนครแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า การที่เลือกภูเก็ตเป็นเมืองแห่งอาหาร เนื่องจากภูเก็ตมีความหลากหลายของวัฒนธรรมด้านอาหาร รวมทั้งชุมชนมีความเข็มแข็งในการรักษาอาหารดั่งเดิมไว้อย่างดียิ่ง และหลังจากนี้ ก็จะมีการผลักดันร่วมกันกับทางเทศบาลนครภูเก็ตต่อไป เพื่อให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งอาหารในเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยเร็ว โดยจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาหารเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง