xs
xsm
sm
md
lg

มอ.ลงนามร่วมมูลนิธิชัยพัฒนามุ่งพัฒนาเกาะบูโหลน และผลิตบัณฑิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามความร่วมมือมูลนิธิชัยพัฒนา ส่งบุคลากรและนักศึกษาพัฒนาเกาะบูโหลนดอน จังหวัดสตูล โดยมูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนการศึกษา วิจัยและพัฒนา และนักศึกษา มอ.จะได้ใช้วิชาความรู้ไปช่วยเหลือชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน พร้อมทั้งขยายความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาพื้นที่ชนบทในจังหวัดพังงาอย่างยั่งยืน ในสาขา วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการจัดการ และศึกษาศาสตร์

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาเกาะบุโหลนและผลิตบัณฑิต โดยมีผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย รศ.ดร.จรัญ บุญกาญจน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์อำนวย อินทสโร รองคณบดีฝ่ายบริหารและการศึกษาพิเศษ คณะนิติศาสตร์ ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ผศ.พักตรา คูบุรัตน์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ และ ผศ.สมปอง ทองผ่อง รักษาการคณบดีคณะศึกษาศาสตร์

สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือราษฎร ตำบลปากน้ำ บ้านเกาะบูโหลน อ.ละงู จ.สตูล ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จ.สตูล จำนวน 8 ราย ซึ่งต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และทรงมีพระราชดำริให้พื้นที่เกาะบูโหลนดอนเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาในด้านการส่งเสริมด้านสุขอนามัย และจากพระราชดำริในการที่จะให้พัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะจังหวัดพังงา ซึ่งประสบภัยสึนามิอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ขยายความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ มาพัฒนาถิ่นเกิด

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ให้ข้อคิดว่า ความรู้สามารถก่อให้เกิดทั้งการสร้างสรรค์และทำลาย การให้ความรู้และการพัฒนาให้เกิดความเจริญแต่ขาดจิตสำนึก ขาดคุณธรรมเป็นการพัฒนาที่หยาบกร้าน อยากเห็นระบบการศึกษามีการพัฒนา ความบกพร่องทางการศึกษาส่วนหนึ่งคือเลียนแบบฝรั่งมากเกินไป โดยไม่มีการปรับให้เข้ากับความเป็นไทย เราอาจจะเอาในส่วนความรู้พื้นฐานมาจากเขาเพื่อเป็นการ “รู้เขา” แต่จะต้อง “รู้เราด้วย” ด้วยการปรับความรู้นั้นให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมไทยด้วย การวิจัยควรเน้นเรื่องใกล้ตัวเป็นหลัก และสามารถตอบปัญหาท้องถิ่นได้ ประโยชน์ที่เกิดจากการเข้าไปพัฒนาพื้นที่เกาะบุโหลน คือ นักศึกษาได้ออกจากห้องเรียนเพื่อได้สัมผัสของจริงบ้าง เพื่อจะได้นำความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เป็นการเรียนจากของจริง และจะเกิดจิตสำนึกในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

รศ.ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการพระราชดำริ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติเห็นชอบให้การพัฒนาพื้นที่เกาะบูโหลนดอน จังหวัดสตูล เป็นนโยบายและโครงการระดับมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการร่วมกันหลายคณะ และเป็นโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากจะส่งเสริมสุขภาพอนามัยแล้ว มหาวิทยาลัยจะส่งบุคลากรและนักศึกษา เข้าทำการศึกษา วิจัย โครงสร้างพื้นฐาน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในเชิงบูรณาการในระยะยาว โดยประสานงานหน่วยงานต่างๆ และหน่วยราชการเพื่อการพัฒนาที่พอเพียงอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น